Thursday, August 23, 2007

อตตาหิ อตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

“ตน” ในที่นี้ก็หมายถึงตัวของเราเองทุกคน ที่ประกอบขึ้นจากการประชุมกันของรูปและนาม เกิดขึ้นเป็นร่างกาย จิตใจ สามารถสื่อสาร รับรู้ แสดงออก ต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ต่างๆ ในที่นี้อาจเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า ทำไมพุทธศาสนา สอนหลัก อนัตตลักษณะ หรือ ความไม่มีตัวมีตน แต่ในพุทธภาษิตนี้ แฝงนัยแห่ง อัตตา เพราะคำว่า ”ตน” ถึงสองครั้งด้วยกัน
ความจริงแล้วพุทธภาษิตนี้ไม่ได้ใช้สำหรับสอนหลักที่ลึกซึ้งระดับเหนือโลกียวิสัย ไม่เน้นให้เข้าใจลึกซึ้งต่อหลักไตรลักษณ์ คำว่า”ตน” จึงไม่ได้หมายถึง การมีตัวตน หรือ อัตตา แต่เป็นการสอนแบบโลกียวิสัย คือ ให้คำจำกัดความ “ตน” เพียงแค่ใช้แทนตัวเรา ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็คือ ให้ตัวเรานั้น พึ่งพาตัวเราเอง
ลักษณะพุทธศาสนา เน้นเรื่องการพึ่งตนเองนี้อย่างยิ่ง เพราะการพึ่งตนนี้เอง ทำให้เรานั้นไม่ต้องหวังรอเหตุปัจจัยจะสมบูรณ์ ไม่เฝ้าคอยให้ใครมาทำให้สำเร็จ อาทิ ถ้าเราจะไปโรงเรียน แต่ไม่รู้เส้นทางต้องคอยให้แม่พาไป หรือถ้าต้องไปเองก็ต้องคอยถามคนข้างทางไปเรื่อย อย่างนี้ ถ้าวันไหนแม่ไม่อยู่ หรือ เกิดวันนั้นไม่มีคนเดินถนนเลยแม้แต่คนเดียว เราก็ไปโรงเรียนไม่ถูกแล้ว อดเรียนไป การพึ่งตนเองจึงเป็นการกระทำผลนั้นให้เกิดได้ด้วยตัวเอง ควบคุมเหตุให้เกิดผลได้ด้วยตัวเอง ผลจากการกระทำเองนี้ ทำให้เราเกิดความอิสระทั้งทางร่างกาย คือ ทำให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี เป็นผู้เอางานเอาการ ไม่ล้มเลิก มองหาคนช่วยก่อนจะทดลองให้รู้จริง ถ้าจะมีใครจะช่วยก็ขอให้สุดความสามารถของเราก่อน แล้วจึงขอความช่วยเหลือ ความเป็นผู้นำก็เกิดขึ้น ในด้านจิตใจ จะทำสิ่งใดก็เกิดความมั่นใจ มุ่งมั่น ว่าเราสามารถทำได้ ไม่หวั่นไหว ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่ล้มเลิกจนกว่าผลที่หมายนั้นจะสำเร็จ
แต่การพึ่งตนเองนั้นต้องหันกลับมาดูตัวเองที่พึ่งนั้นด้วยว่าพึ่งไหวไหม เช่น คนที่ว่ายน้ำไม่เป็น เมื่อพลัดตกน้ำไม่ร้องเรียกใคร คิดแต่เพียงว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน สุดท้าย ตนนั้นก็ช่วยตัวเองไม่ได้ต้องจมน้ำในที่สุด ดังนั้นจากสุภาษิตนี้ ถ้าจะให้ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่เสี่ยงต่อการนำไปใช้ผิดๆ จะมีพุทธภาษิตต่อท้ายว่า “อตตาหิ สุทนเตน นาถัง ลภติ ทุลลภัง “มีตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นที่พึ่งที่หาได้ยาก” ถ้าตนไม่พร้อม ไม่ดีพอ การเอาตัวเราไปพึ่งก็อาจเกิดความเสียหายได้ ต้องรู้จักประมาณตน ในยามที่เรายังอ่อนแอ ก็ยังคงต้องพึ่งผู้ที่เชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถ ช่วยสร้างเสริมกำลังกายกำลังใจ ที่จะพาเราผ่านพ้นอุปสรรคนั้นๆไปได้ แต่ขณะนั้นก็ไม่ประมาท นิ่งนอนใจ ยึดติดว่าจะมีใครช่วยเราตลอด ต้องพัฒนาตัวของเราควบคู่กันไป เมื่อเจองานที่ยาก อุปสรรคที่หนักหนาก็ขอให้มองเป็นสนามไว้ฝึกตนจนวันหนึ่งตัวเรามีความสามารถพอไม่ต้องพึ่งคนอื่น ก็ยังไม่หยุด ต้องพยายามให้สูงยิ่งๆขึ้นไป เมื่อเรารู้จักพึ่งตนเอง ไม่ประมาท มีความเพียรพัฒนาตนอยู่เสมอ “ตนจึงจะเป็นที่พึ่งของตนได้ และเป็นที่พึ่งที่หาได้ยากอีกด้วย”
สรุปจากสุภาษิตนี้ จึงได้ข้อคิดว่าเราทุกคนควร พยายามพัฒนาตน และไม่ประมาทประพฤติตน เพื่อที่ตนจะได้พึ่งตน และเป็นที่พึ่งให้ตนได้ เมื่อพึ่งตนได้ดีแล้ว เสริมด้วยการรู้จัก ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ ตนของเราก็จะสร้างประโยชน์ได้มากกว่าเพียงเพื่อตนเอง แต่เผื่อแผ่ให้แก่สังคม แก่โลก เป็นตนที่มีค่ายิ่งขึ้นไปได้อีกด้วย

สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย. การสั่งสมบุญนำสุขมาให้.

คนเราทุกคน ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาก็เร่าร้องเรียกหาสิ่งที่ต้องการจากพ่อแม่ อาทิ นมแม่ ผ้าอ้อม เปล บ้าน ยาแก้ไข้และวัคซีนแก้โรค จัดเป็นหมวดหมู่ว่า ปัจจัย ๔ ต่อเนื่องจากวัยเยาว์มาแล้ว เมื่อเติบใหญ่ดูแลตัวเองได้ ก็ประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงกายเลี้ยงใจด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน แสวงหาสิ่งของจำเป็นจนถึงบำรุงบำเรอตนให้สะดวก สุข สบาย ยิ่งขึ้นตามลำดับ ตามกระแสนิยม อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รถยนต์ เครื่องประดับ อาหารรสเลิศ ฯลฯ จะสังเกตได้ว่า ความอยากมี อยากได้ของเรานั้นไม่มีที่สิ้นสุด เป็นส่วนเกิน เกินกว่าคุณค่าของชีวิตหนึ่งๆที่จะต้องใช้สอย ไม่เพียงวัตถุเท่านั้น แต่สั่งสมซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ เข้าอีกด้วย ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความรกรุงรัง ยิ่งสั่งสม ยิ่งหนัก ยิ่งคับ ยิ่งแคบ ยิ่งทุกข์มาก ยิ่งห่างไกลความสุข

การสั่งสมอีกลักษณะหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่นิยมในสังคมปัจจุบัน แต่เป็นการสั่งสมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ เป็นการสะสมที่ ยิ่งสั่งสมยิ่งเบา ยิ่งโปร่ง ยิ่งโล่ง ไม่มีเกิน ไม่มีขอบเขต ควรขวนขวายเป็นนิจ นำไปความสุขสงบ สันติ และอิสระในชีวิตอย่างหาใดเปรียบ แตกต่างจากการสั่งสมแบบที่กล่าวข้างต้นโดยสิ้นเชิง

การสั่งสมนี้ คือ การสั่งสมบุญ การหมั่นประพฤติปฏิบัติตนให้ดีงาม ตามหลักการของพระพุทธศาสนา รู้จักสั่งสมบุญด้วยการแบ่งปันสิ่งของที่เหลือกินเหลือใช้ การให้นี้ช่วยลดความเห็นแก่ตัว ทำให้มองเห็นคุณค่าของผู้อื่นและมีความสุขในการอยู่ร่วมกันกับสังคม สองคือ รู้จักสั่งสมบุญด้วยการรักษาศีล มีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฏของคนหมู่มาก สร้างบุคลิกภาพที่ดี และพร้อมที่จะพัฒนายิ่งๆขึ้นไป สุดท้ายต้องรู้จักสั่งสมบุญด้วยการภาวนา ฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น เกิดความบริสุทธิ์ผ่องใสจากภายใน มองเห็นทุกสิ่งรอบการได้อย่างแจ่มชัดและวินิจฉัยอย่างแยบคายด้วยปัญญา พัฒนาตนให้เป็นผู้เจริญ นำความไพบูลย์ สมบูรณ์ สุข เกษม มาสู่ตนและสังคม
สรุปความว่า การที่เราจะมีความสุขทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ เกิดมีจากการสั่งสมบุญทั้งสามที่กล่าวไว้ข้างต้นทีละเล็กละน้อย เป็นการมองหาความสุขที่มีอยู่ใกล้ตัว สุขที่จะให้ สุขที่จะดูแลและพัฒนาตนให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์

จิตตัสสะ ทะมะโถ สาธุ.การฝึกจิตเป็นสิ่งที่ดี

คำสอนทางพุทธศาสนานั้น เน้นหนักในด้านการมองเห็นทุกข์ และเชี่ยวชาญในทางแห่งความสุข ภาวะแห่งการปลดเปลื้องทุกข์และเข้าถึงความสุขที่แท้ ที่ประณีต คือ การเข้าถึงหลักธรรมดาที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งตถาคตได้มองเห็นทางแห่งความจริงแล้วนำมาเผยแพร่ นำมาแสดง จัดตั้ง วางหลัก เปิดเผย แจกแจง สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ดีที่พระพุทธเจ้าท่านทรงวางแนวทางไว้ เพื่อมนุษย์จักได้ดำเนินชีวิตไปตามทางอันประเสริฐนั้น

การเดินทางไปที่ใดก็ตาม เราต้องมีร่างกายที่พร้อมจะเดิน ใจมุ่งมั่นที่จะไป และมีแผนที่แม่นยำสู่เป้าหมาย ไม่ต่างกันกับ การเดินทางไปสู่สิ่งที่ดี ที่ประเสริฐตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งคือการเดินตามหลัก “อัษฎางคิกมรรค” หรือ “มรรคมีองค์ ๘ “ อันประกอบด้วย
1. สัมมาทิฏฐิ
2. สัมมาสังกัปปะ
3. สัมมากัมมันตะ
4. สัมมาวาจา
5. สัมมาอาชีวะ
6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ
8. สัมมาสมาธิ
มรรคมีองค์ ๘ ที่ว่านี้ ก็คือ หลักการฝึกตน ตามสิกขา ๓ โดยจัดหมวดได้เป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา การมีศีลก็คือการทำพื้นฐานให้พร้อมซึ่งโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า การฝึกจิต คือ การทำใจแน่ว มั่นคงสู่เป้าประสงค์ การมีปัญญาก็เพื่อวินิจฉัย ชี้นำทางที่ถูกต้องถึงที่หมาย เมื่อมีสามส่วนนี้ การเดินทางไปที่สู่สิ่งที่ดี ย่อมบังเกิดขึ้น

ในส่วนจิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการนี้ เพราะ กรรมใดจะเกิดขึ้น ย่อมต้องเกิดจากมโนกรรมเป็นขณะแรก หรือ เกิดความต้องการที่จะทำสิ่งใดสิ่งนั้นก่อน จึงลงมือประพฤติปฏิบัติ คิดหาหนทาง เช่น เมื่อเราจะเดินทางเราย่อมเกิดความคิดที่จะเดินก่อน แล้วจึงดูเหตุปัจจัยต่างๆ ถ้าไม่อยากเดิน ก็จบตรงนั้น เมื่อจิตเราน้อมที่จะเดินไปสู่ทางแห่งมรรคแล้ว จิตจะบ่มความต้องการที่จะละอกุศลทั้งหลาย เมื่อมองกลับมาที่ตัวตนจิตก็พยายามกำจัดอกุศลที่คงค้างอยู่ จิตเร้ากุศลให้เกิดพอกพูนในขณะเดียวกันจิตก็เพียรรักษาความดีให้ดำรงตลอดสืบไป

เมื่อเรามีจิตที่แน่วแน่ มั่นคง แจ่มชัดขึ้นและประกอบด้วยกุศล เราย่อมเกิดพลังที่จะทำสิ่งดีๆได้อีกมากมาย เกิดฉันทะใจรักในการกระทำ เกิดความวิริยะบากบั่นเพื่อความสำเร็จ ในขณะที่ทำก็ไม่วอกแวก ไม่ซ่านส่ายไปในสิ่งยั่วยวนรอบข้าง และไม่นิ่งนอนใจ รู้ตัวทั่วพร้อม ซักซ้อมฝึกฝนตนสม่ำเสมอ เรียกได้ว่า จิตเป็นปัจจัยแรก ท่ามกลาง และที่สุดของการกระทำของมนุษย์เรานั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราต้องการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีงาม การฝึกจิตให้พรั่งพร้อม มีกำลัง ฉับไว ว่องไวแจ่มชัดย่อมส่งผลสู่การกระทำอันประเสริฐทั้งหลาย เราจึงควรหมั่นฝึกสติในการอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ปล่อยให้จิตหลงไปกับกิเลส อารมณ์ที่กระทบ ฝึกนั่งสมาธิสม่ำเสมอ หรือ เมื่อกระทำการใดก็ทำด้วยสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นให้ตลอด และประกอบความเพียรในทุกสิ่งอย่าง ไม่ยอมแพ้จนกว่าจะสำเร็จ ลุล่วงตามประสงค์ใจหมาย
สรุปความว่า “การฝึกจิต” จนจิตดีนั้นย่อมเป็นปัจจัยให้ริเริ่มฝึกฝนพัฒนาตน ตามหลักไตรสิกขา ประคับประคองให้ดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ ไปตลอดรอดฝั่ง ก้าวไปสู่ทางแห่งความสำเร็จ และปลายทางที่ประเสริฐสูงสุด คือ นิพพาน อันเป็น”สิ่งที่ดี”ที่สุดทางพุทธศาสนา

Thursday, August 16, 2007

“นัตถิ อัตตา กุโต นิรัตตัง วา”สิ่งที่ยึดถือไว้ก็ไม่มี แล้วสิ่งที่ต้องปล่อยจะมาจากที่ไหนเล่า

ปฏิจจสมุปบาท


The conditional Arising and cessation of All phenomena

พระอานนท์

พระอานนท์ขณะปรารถความเพียรตลอดคืน ก่อนรุ่งเช้าก็บรรลุธรรมก่อการสังคายนาครั้งที่ ๑

กำลังมีสติอยู่จ๊ะ

ความสุขจะหาจากที่ใดหนอ ทุกวันนี้เราเริ่มหามันยากขึ้นๆ เรามักคิดว่า ความสุขของเรารอเราอยู่ข้างหน้า เราเห็นมันชัดบ้าง พล่าบ้าง ที่ข้างทางนั้น เราเห็นตัวของเราได้ไปเรียนต่อ เมื่อกลับมาเราจะมีงานการทำที่ดีกว่านี้ มีครอบครัว มีบ้านซักหลัง ตอบแทนคุณพ่อแม่อย่างที่คนๆหนึ่งจะทำได้ มีเวลาได้ไปเที่ยวหลายๆที่ เราอาจคาดหวังถึงการเที่ยวรอบโลก นั้นคืออนาคตที่เราวาดไว้ เราจัดเตรียม พื้นที่สำหรับความสุขมากมาย เพื่อที่ว่าวันหนึ่งในที่แห่งนั้นเราจะผสานเข้ากับความสุขได้อย่างเต็มอิ่มในท้ายที่สุด

เราสามารถที่จะมีความสุขได้ง่ายกว่านั้น ที่เราเคยได้ยินบ่อยๆว่า ความสุขอยู่ในปัจจุบัน หรือ ตื่นตัวตื่นรู้อยู่เสมอ ทั้งสองนี้มีสติอยู่เป็นพื้นฐาน ทำงานอยู่อย่างขมักเขม้น การเจริญสติจะช่วยให้เรารู้สึกถึงพลังบางอย่าง เหมือนเอามืออังบนชามข้าวต้มร้อนๆ ในคืนหนาว ละมัง พลังสตินี้จะพาเราสู่หนทางใหม่ ที่เราละเลยและปล่อยมันทิ้งไว้

ข้าวต้มร้อนๆ เมื่อปล่อยไว้ก็เย็นชืดหมด

รอบตัวเรานั้นเต็มไปด้วยอารมณ์นานา ใจที่อ่อนหัดก็ชื่นชอบที่จะดื่มกินอารมณ์ด้วยความเอร็ดอร่อย บางครั้งเราเดินเพียงไม่กี่ก้าว เราคิดไปได้ไกลถึงอีกซีกโลก เดินมาแล้วไม่รู้ว่าเดินมาทำไม หรือลืมทาง นี่เองเพราะใจเรากำลังสนุกสนานกับรสอารมณ์ เราเองก็เอาใจช่วยมันซะด้วย

สติจะช่วยเราให้มารู้ตัวทั่วพร้อมที่ตัวเราจริงๆ อาจจะเป็นที่ลมหายใจ หรือร่างกายของเรา สติจะทำให้ตัวเราได้เรียนรู้อาณาเขตของความสุขแห่งใหม่ เบิกบานใจ และผ่อนคลาย เราสามารถที่จะยิ้มเพราะอิ่มจากข้างใน ถ้าเราเจริญสติตลอดวัน ความสุขในทุกวินาทีเกิดขึ้นได้จริง และจะรู้ถึงสภาวะของมันได้เฉพาะตัวเองเท่านั้น คนทั่วไปจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงจากรอยยิ้มที่ไม่จางคลายจากใบหน้าเราเลย และถามเราเสมอว่าทำไมดูมีความสุขจัง นั้นคือสัญญาณแห่งความสุขที่แท้ เมื่อมีความสุขแบบนี้ก็คือการปฏิบัติธรรม เราจะมองเห็นตถาคตยืนยิ้มให้เรา ให้กำลังใจเราอยู่ตลอด

สุขไม่ต้องความหา เพียงแค่เปิดโอกาสสัมผัสใจด้วยสติเท่านั้น ที่สำคัญมันง่ายกว่าการหาเงินมาซื้อความสุขเป็นไหนๆ เราไม่หาเงินเพื่อซื้อความสุขอีกแล้ว คงเป็นเรื่องโง่เขลาที่สุด ถ้าเรื่องราวชีวิตของใครคนหนึ่ง จะเกิดมาเพื่อเรียน ทำงาน มีบ้าน มีรถ มีลูก มีเงิน มีลูกน้อง มีโล่รางวัล มีหลาน ได้นอนโรงพยาบาลนานๆแล้วก็ตายจาก ซ้ำๆกันไป คนแล้วคนเล่า ถ้ำดำรงสติจนอยู่เสมอ เราจะให้คุณค่า ให้รางวัลกับตัวเราเองตลอดเวลาโดยจะเลือกทำงานที่มีประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและคนรอบข้าง ความสุขขณะที่ทำงานทำให้เราทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ และมองเห็นเป้าหมายของงานและชีวิตที่ชัดเจน เปลี่ยนจากการเป็นเพียงผู้สนองความต้องการของสังคมไปเป็นผู้นำสังคม มุ่งไปเพื่อประโยชน์สุขที่แท้ของตน ครอบครัว สังคมและธรรมชาติ

หลังจากนี้
ถ้าเจอเพื่อนคนไหนถามเราว่า ตอนนี้เธอทำอะไรอยู่
เราก็ตอบอย่างแช่มช้าว่า กำลังมีสติอยู่จ๊ะ

เอาล่ะเอามืออังข้าวต้มมาตั้งนาน ได้เวลากินกันแล้วล่ะ



มีเพื่อนคนหนึ่งถามว่า เมื่อเรายังมีกำลัง การไปเที่ยวหาประสบการณ์จากหลากหลายแหล่ง ไม่ปล่อยให้เฉยอยู่นิ่ง ได้ไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของวัฒนธรรมต่างๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เพื่อนใหม่ การได้ถ่ายรูปสวยๆหรือนั่งเขียนกลอนบรรยายความประทับใจซักบท คือ รสชาติของชีวิต อย่างนี้ถูกไหม

อันที่จริงแล้วการได้พบปะกับสิ่งใหม่ นั้นสวยงามและน่าจดจำ เราทุกคนเมื่อได้ทำอย่างนั้นก็ชื่นชอบและรู้สึกได้ว่าเราได้เปลี่ยนไปทุกครั้งที่เดินทาง เราเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆ เพื่อให้เราคนเดิมมีคุณค่า กว้างขวาง มีความสุขขึ้น มีพลังพร้อมที่จะกลับมาทำงาน พร้อมที่จะกักเก็บความสุขนั้นเอาไว้ให้นานที่สุดจนกว่าจะได้ออกสู่การเดินทางครั้งใหม่

อิสระ

ถ้าฉันกำลังมอง ฉันก็จะได้เห็น
เห็นสิ่งที่สวยงามกว่าที่เคยมอง

ถ้าฉันกำลังฟัง ฉันก็จะได้ยิน
ยินสิ่งที่ไพเราะกว่าที่เคยฟัง

ถ้าฉันกำลังสูดดม ฉันก็จะได้กลิ่น
กลิ่นที่ละม่อมกว่าที่เคยดอม

ถ้าฉันกำลังลิ้ม ฉันก็จะได้รส
รสอันลุ่มลึกกว่าที่เคยลิ้ม

ถ้ากายฉันกำลังไหว ฉันก็จะได้สัมผัส
สัมผัสที่ซึมซับกว่าที่เคยไหว

หนทางเท่านี้แหละ เท่านี้แหละเอง
ที่ฉันจะโปร่งเบา เสรี สุข สันติ

และเมื่อฉันรับรู้สิ่งใด ฉันก็จะปล่อยให้ผ่านไป
อย่างแผ่วเบาและงดงาม
แล้วขณะนั้นเอง เธอจะสัมผัสได้ถึง

อิสระที่อิสระกว่าที่เคยอิสระ

บ้างไหม

เธอเคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม
ที่ว่า มีเวลาก็ไม่ใช่
ล่องลอยก็ไม่ใช่
อบอุ่นก็ไม่ใช่
หนาวก็ไม่ใช่
มีเรี่ยวแรงก็ไม่ใช่
อ่อนแรงก็ไม่ใช่ ไม่ใช่หลายๆอย่าง

ช่างผ่อนคลายเสียจริง
จะว่าสบายก็ใช่
โปร่งโล่งก็ใช่
สวยงามก็ใช่
ไหลเอื่อยก็ใช่
มั่นคงก็ใช่ ใช่ในหลายๆสิ่ง


ไม่ได้เกิดตลอดเวลา แต่มันมีอยู่ตลอดทุกขณะ
ฉันเพียงเตรียมการ ต้อนรับ และเปิดโอกาส
ชักชวนว่า “มาเถิด เธอเอ๋ย”
เมื่อเธอปรากฏตัว เธอจะนั่งอยู่ในบ้านของฉัน
ที่มุมเก้าอี้ ไล้โลมด้วยแดดอุ่นๆยามเช้า
บ้านฉันดูชื่นฉ่ำขึ้นมาทันที
เบิกบานขึ้นมาทันใด

ตั้งแต่วันนั้น
เธอก็นั่งอยู่ตรงนั้นแล
“โลกนี้จะงามอย่างไร ถ้าไม่มีเธอ”จริงอย่างคำเขาว่า
บางครั้งเธอจะแวบหายไป ฉันกระวนกระวาย
เธอก็มักเตือนสติฉันว่า
“ดูดีๆ คุณเอ๋ย” แล้วเธอก็กลับมาตรงนั้น

เธอเคยไปที่บ้านคนอื่น ฉันเคยถาม
ที่ไหนเล่าที่เธอเที่ยวไป ที่ไหนที่เธอชอบใจ
“ถ้าเธอตั้งใจใช้ชีวิต เธอก็จะพบฉัน คนอื่นๆก็เหมือนกันกับเธอนั่นแล”
เธอตอบฉัน เงยหน้าเล็กน้อยแล้วหลับตาพริ้ม

ยิ้มมุมปากของเธอสะกดฉันไว้

ไม่มีวันที่ฉันจะปล่อยเธอไป ลืมเธอเสีย ที่เผลอมองดูเธอ
“ฉันจะตั้งใจมีเธอ ”

เธอยิ้มรับ
แล้วเราทั้งสองนั่งสงบนิ่ง
ที่มุมเก้าอี้เดิม แสดแดดปรับเปลี่ยนมุม เม็ดฝุ่นน้อยๆ
ล่องลอยดุจหิ่งห้อย ริ้วม่านกระเถิบตัวเชื่องช้า
ที่นั้นฉันคิดถึงใครบางคน

เธอจะเคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม
ที่ว่า มีเวลาก็ไม่ใช่
ล่องลอยก็ไม่ใช่
อบอุ่นก็ไม่ใช่
หนาวก็ไม่ใช่
มีเรี่ยวแรงก็ไม่ใช่
อ่อนแรงก็ไม่ใช่ ไม่ใช่หลายๆอย่าง

ช่างผ่อนคลายเสียจริง

จะว่าสบายก็ใช่
โปร่งโล่งก็ใช่
สวยงามก็ใช่
ไหลเอื่อยก็ใช่
มั่นคงก็ใช่ ใช่ในหลายๆสิ่ง

ฉันเคยสัมผัสอยู่บ้างแล
เจ้าสิ่งนี้เธอคงเรียก แทนว่าความสุข ละมัง

Monday, August 06, 2007

กายของใคร

ความแก่ย่อมทำรูปที่น่ารักให้ยิ่งเศร้าหมอง
โรคร้ายย่อมขจัดเรี่ยวแรงทั้งหมดในร่างกาย
ความตายย่อมฉุดคร่าอัตภาพ
ที่บำรุงรักษาด้วยเครื่องใช้สอยนานัปการ
ประโยชน์อะไรเล่าจะพึงมีในร่างกาย
(เตลกฏาหคาถา ข้อ ๒๙)

เรา

เราเดินเคียงข้างกัน ไม่มีใครนำ ใครตาม
เรานั่งมองกัน ไม่มีใครเป็นผู้มองหรือผู้ถูกมอง
เราหมั่นเอาใจกัน แต่ไม่ตามใจกัน( โดยเฉพาะใจของตัว)
เราไม่เคยรอกัน เพราะเราไม่เคยแยกจากกัน
เราไม่เชื่อว่านาฬิกา จะวัดเวลาความรัก
เรารักกันเท่านี้แหละ ไม่มีมากกว่านี้ น้อยกว่านี้
เราชื่นชมกันและกัน โดยการปรับปรุง แก้ไขไม่หยุดยั้ง
เราเหมือนกัน เพราะเราก็คือเรา เราก็คือไม่ใช่เรา
เราไม่เหมือนกัน เพราะความแตกต่างช่วยเติมเต็ม
เราเติมน้ำให้กัน ไม่มีใครสนใจเติมแก้วของตัว
เราอยากเห็นรอยยิ้ม เราจึงยิ้มให้กัน
เราอยากเห็นเรา มีอิสระ เราจึงบ่มเพาะอิสระในใจเรา
เรานั่งมองดูการจากไป เหมือนดั่งใบไม้ที่ปลิดจากกิ่ง
และการกลับมา ก็คือใบอ่อนที่แตกยอดออกมาใหม่
เราใกล้กันได้เสมอ ถ้าเราเข้าใจความห่าง
เราห่างกันเสมอถ้าเราไม่เข้าใจความชิดใกล้
เรารักทุกสิ่ง เพราะมันเป็นเรา
เราเป็นอิสระ ล่องลอย เชื่องช้า
เราอบอุ่น เหลือคณา
ฉันรักเธอ เธอรักฉัน ทำให้เราเกิดทุกข์ขึ้นในใจ
ถ้าเราสลัดความเป็นเธอ กับ ฉัน
รักก็จะเป็นของกันและกัน เป็นของเรา
เป็นอิสระที่สัมผัสได้และน่าใฝ่หา