Thursday, November 27, 2008

อย่าทำอะไรที่ไม่จำเป็น

เคยมีคำถามในใจเหมือนผมไหมครับ มันเกิดขึ้นในวันหนึ่งขณะทำงาน ว่า ”นี่เรากำลังทำอะไรอยู่” เป็นคำถามง่ายดายดารดาษ แต่ลึกล้ำ เป็นความสงสัยที่เกิดขึ้นจากเสียงเพรียกแห่งจิตวิญญาณของทุกคน จิตวิญญาณที่ต้องการแสวงหาคุณค่าแท้ในตัวเอง

นักดนตรีมีพรสวรรค์ แต่งเพลงไพเราะ เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงมากมาย แต่บางครั้งก็อดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่า เรากำลังทำให้คนลุ่มหลงมัวเมาอยู่หรือเปล่า


นักโฆษณาบางคนอาจเป็นนักคิดที่เก่งฉกาจ สามารถคิดแคมเปญดีๆได้มากหลาย เอาชนะใจผู้ซื้อสบายๆ แต่หากวันหนึ่งเขาต้องทำโฆษณาให้กับบริษัทเหล้า เบียร์ บุหรี่ ความสามารถของเขาก็เป็นเพียงทาสแห่งลัทธิอบายมุขนิยม เท่านั้นหรือ


คนทำงานเพื่อสังคมที่มีจิตใจดีงาม ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น แต่เขาอาจไม่รู้เลยว่าเงินทุนที่ได้มานั้นเกิดจากกลุ่มธุรกิจการเมืองที่คดโกง และคนดีเหล่านั้นก็เป็นเครื่องจักรเล็กๆที่คอยรับใช้แต่งแต้มใบหน้าของนักการเมืองเหล่านั้นให้ดูดี


และอื่นๆอีกมากมาย ประสบการณ์เหล่านี้ย่อมทำให้คำถามที่ว่า “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่” หนักแน่นขึ้น เรามาลองหาคำตอบให้กับความสงสัยนี้ดู


ทุกคนจำเป็นต้องทำงาน คนเราใช้เวลาในการทำงานทั้งชีวิต คิดเป็น แปดชั่วโมงต่อวัน ห้าวันต่อสัปดาห์ ทำงานตั้งแต่ อายุ 25 จนเกษียณ คิดเป็น 67,200 ชั่วโมง อีกแง่หนึ่งเราทำงานแปดชั่วโมงต่อวันคิดเป็น 33.33 % ของเวลาทั้งชีวิต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด มากกว่า การนอน การเที่ยว การกินพักผ่อน หรือเข้าวัด ดังนั้นการประกอบอาชีพ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกินเวลาของเราไปแทบทั้งหมดทั้งมวล เมื่อหักลบเวลาที่ใช้ทำกิจส่วนตัว การเดินทาง แล้ว ชีวิตเราหนึ่งนี้ก็แทบไม่มีเวลาเหลือให้กับสิ่งดีๆในชีวิต การทำงานเพราะจำเป็นต้องทำจึงไม่ควรให้เกิดขึ้น การทำความดี การทำเพื่อสังคม การปฏิบัติธรรม จึงควรทำให้เป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของงาน การใช้เวลาว่างเพียงเล็กน้อยไปกับสิ่งดีงามอาจมีกำลังต้านทานสิ่งหมองมัวไม่เพียงพอ ถ้าหากสามารถหลอมรวมเอาการทำดีเข้ากับการประกอบอาชีพได้แล้ว ก็เหมือนเราทำบุญตลอด ชั่วหนึ่งในสามของชีวิต โดยไม่ต้องดิ้นรนทำบุญทำความดีที่ไหนอีก
มนุษย์ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิต ซึ่งจิตของเราแต่แรกเริ่มนั้นมีธรรมชาติผ่องใส บริสุทธิ์การทำงานในเชิงอุดมคติ การทำงานเพื่อบูชาความดี ความจริง ความงาม จึงเป็นสิ่งที่จิตวิญญาณมนุษย์ปรารถนา เช่น การเป็นแพทย์ เพื่อรักษาโรค การเป็นครู เพื่อสอนให้คนมีความรู้ เป็นชาวนาเพื่อผลิตอาหารให้คนทั้งประเทศ การเป็นข้าราชการเพื่อรับใช้ประชาชน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำงานสนองมิติแห่งปรัชญาโดยแท้เช่นนั้นได้ ส่วนมากแล้ว เรายังต้องเผื่อใจไว้สำหรับความต้องการส่วนตน ทั้งทางด้านวัตถุ เช่น เงินตรา บ้าน รถ หรือคอมใหม่สักเครื่อง ด้านจิตใจ เช่น ความอยากมี อยากเป็น ความทะเยอทะยาน หรือยึดมั่นในทิฏฐิบางอย่างในตัว และแน่นอนที่สุดโลกก็ยังมีความจำเป็นสำหรับอาชีพอื่นๆอยู่ ไม่ว่าอาชีพเหล่านั้นจะหลีกหนีจาก”ความจำเป็น”มากน้อยเพียงไรก็ตาม เพียงแต่โลกก็ทำการสร้างสรรค์และคัดสรรค์อาชีพอยู่ตลอดเวลา อาชีพที่จำเป็นต่อมนุษย์และธรรมชาติเท่านั้นที่จะอยู่คงไม่เสื่อมสลายไป สำหรับเราๆท่านๆที่ทำงานกันอยู่ในองค์กรณ์หรือทำงานอิสระ บางครั้งอาจรู้สึกว่ากำลังทำอะไรอยู่ เกิดความสงสัยในชีวิต หรือขาดความภูมิใจในงานหรือคุณค่าของตัวเอง หมดศรัทธาและความหวังที่งดงามนำพาชีวิต ขอให้เรามีสติและตรึกตรองดูให้ดี ว่าสิ่งที่เราทำนั้น สอดคล้องกับความดี ความจริง และความงามมากน้อยเพียงไร หากสำรวจแล้วพบว่าสอดคล้องและสมดุลกันดี เราก็จะเกิดจิตใจที่เบิกบานกับงานทันที แต่หากสอดผสานแต่ขาดสมดุล เช่น เป็นงานที่ดีแต่ได้เงินไม่พอใช้ เราจะพบว่าความดีของงานกับความจริงที่เราต้องกินต้องใช้ไม่สมดุลกัน อาจเพราะเราไม่คำนึงถึงรายได้หรือเราใช้สุรุ่ยสุร่ายกันแน่ ต้องมาดู หรืออาจพบว่าอาชีพที่ทำนั้นทั้งไม่สอดคล้องเอาเสียเลย ต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมาดูว่าเรามีกำลังความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไหม ถ้าทำได้ก็ทำทันที ถ้าไม่ได้อาจต้องรอจังหวะ ในสถานการณ์นี้ผู้มีกำลังจึงสามารถเลือกทางของตนได้เต็มที่และกว้างขวางกว่า ส่วนผู้ที่ยังอ่อนแอ ยังไม่สามารถก้าวเดินด้วยขาของตนอย่างมาดมั่น แต่หากเริ่มมองเห็นหนทางที่ชัดเจนเบื้องหน้าแล้ว ก็เฝ้ารอเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง เหมือนคติธรรมของเล่าปี่ที่ว่า


“มังกรอาศัยอยู่ในน้ำลึกนิ่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็โผผงาดสู่ฟากฟ้า”


หากนับย้อนหลังไปสู่ ค.ศ.๑๗๗๔ ขณะนั้นได้มีกลุ่มชนชาวอังกฤษ ชนชั้นกรรมาชีพ ไม่รู้หนังสือ กลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเมือง แมนเชสเตอร์สู่รัฐนิวยอร์คเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ความเป็นอยู่เดิมที่แออัดและขาดสุขภาวะ เป็นแรงผลักดันสู่การเริ่มต้นใหม่ด้วยอุดมการณ์อันเปี่ยมล้น ที่จะสร้างชุมชนในอุดมคติ (Uthopia) อันประเสริฐ ปราศจากความเศร้าหมอง สงคราม ความโลภ การเอารัดเอาเปรียบกัน และกามตัณหา(ถือพรหมจรรย์) แต่กอปรด้วยระเบียบวินัย ความสะอาดหมดจด เสียสละ และความดีงาม ทุกๆคนมีความเท่าเทียม กลมกลืนกัน แม้ว่าเพศ วัย เชื้อชาติจะแตกต่าง ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน อันเป็นความคิดที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น (คริสตศตวรรษที่ ๑๙)
Ann Lee(ชาว Shakers เรียกเธอว่า Mother Ann) คือ หญิงผู้บุกเบิก ชุดแรก และเป็นผู้นำกลุ่ม Mother Ann และกลุ่มคนผู้เลื่อมใส เรียกตัวเองว่า The united society of believers (สหสมาคมแห่งผู้เชื่อ(ในพระเจ้า))แต่คนทั่วไปมักเรียกพวกเขาว่า Shakers (คนส่าย) เพราะขณะที่ทำพิธีทางศาสนา พวกเขาจะโยกส่ายไปมา นัยว่าพระเจ้าจับตัวพวกเขาโยกเขย่าเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายให้หลุดออกไป ชาว Shakersรวมกลุ่มและเริ่มตั้งชุมชนแรกที่ Watervliet, New York


แต่การดำเนินชีวิตที่ทวนกระแส ทำให้ในห้าปีแรกนั้นไม่มีผู้เลื่อมใสเพิ่มขึ้น แต่กลับลดน้อยถอยลง เพราะการใช้ชีวิตที่แปลกแยกจากคนในสังคมทั่วไป ทำให้ไม่นานสามีของเธอก็ผละจากกลุ่ม เพราะนางต้องการถือพรหมจรรย์ ส่วนคนอื่นๆก็รับกฏระเบียบที่เคร่งครัดและแรงกดดันจากสังคมไม่ไหวพากันจากไปทีละคนสองคน


แต่ด้วยความหนักแน่นและมุ่งมั่นตั้งใจ Mother Ann และกลุ่ม ทำให้การใช้ชีวิตแบบสงบ สเงี่ยม และสมถะ กลับมาเป็นที่สนใจสำหรับผู้เบื่อหน่ายสงคราม และผู้ที่ไม่มั่นใจกับอนาคตของประเทศที่กำลังจะก่อตั้ง(ประเทศสหรัฐอเมริกา) นับแต่นั้นสาวกและชุมชนถูกก่อตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จวบจนปี ค.ศ. ๑๘๓๐ Shakers ก็เจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีชุมชนก่อเกิดขึ้นอีกหลายจุดในสหรัฐอเมริกา จาก นิวยอร์ค ขยายไปจนถึง KentuckyและOhio โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ New Lebanon, New York และจากผู้เลื่อมใสหยิบมือ ก็ก่อตัวกลายเป็นนับพันคนทีเดียว
Shakers อยู่ร่วมกันกันแบบคอมมูน (Communal Society)โดยมีกฏระเบียบ วิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง มีการตั้งศูนย์กลางการปกครอง ณ Holy Mount ที่เป็นเสมือนศูนย์ฝึกผู้นำ เพื่อส่งไปประจำ ณ ชุมชนเชกเก้อในจุดต่างๆของประเทศ


Shakers อยู่กันเป็นครอบครัว ชายหญิงอยู่ร่วมกันแต่แยกสัดส่วน แบ่งตามบ้านเป็นหลังๆ และมีศาลากลางสำหรับประชุมและนมัสการพระเจ้า โดยมีปรัชญาในการอยู่ร่วมกันว่า “ทุกคนต้องให้อย่างเต็มกำลังและรับเท่าที่จำเป็น” โดยทำงานตามแต่ความถนัด ใครไคร่ปลูกข้าวปลูก ใครไคร่ทอผ้าก็ทอไป โดยแบ่งหน้าที่กันทำสิ่งที่จำเป็นต้องมีในชุมชน กลางวันแยกย้ายกันทำงานและกินข้าวที่โรงอาหารร่วมกัน เย็นก็รวมตัวสวดมนต์ สนทนา เมื่อมีการผลิตสิ่งจำเป็นได้ในกลุ่มโดยไม่ต้องพึ่งโลกภายนอก ชุมชนสามารถจึงพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์พูนสุขและยังสามารถเจือจาน จำหน่ายแก่สังคมภายนอกได้อีก ซึ่งสินค้าเหล่านั้นก็มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย
Shakers มองวัตถุเป็นเพียงสิ่งที่ไม่จีรัง ไร้แก่นสาร และหลีกเลี่ยงความหรูหราฟุ่มเฟือย เน้นความสะอาดเป็นระเบียบ และมีคติในการทำงานที่คล้ายคลึงกับคำสอนของเซนเป็นที่สุด โดยมีคำกล่าวดังต่อไปนี้เป็นเครื่องยืนยัน


“อย่าปูผ้าบบนโต๊ะและวางช้อนเงินสำหรับฉัน แต่ขอให้โต๊ะของเธอนั้นสะอาดพอ
โดยไม่ต้องใช้ผ้าปู และถ้าเธอไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็จงยกให้คนยากตนเสียเถิด”

“จงทำห้องของเธอให้สะอาดอยู่เสมอ
เพราะพระเจ้าจะไม่สถิตอยู่ในที่ที่สกปรก และในสวรรค์นั้นไม่มีฝุ่นสกปรก”

“จงทำงานราวกับว่าเธอจะมีชีวิตอีกพันปี และทำงานราวกับเธอรุ้ตัวว่ากำลังจะตายในวันพรุ่ง”

“ไม่จำเป็นต้องคุกเข่าลงเพื่อสวดมนต์ภาวนา หากว่าท่านกำลังทำงานอยู่ก็สวดภาวนาได้”

เมื่อพวกเขาไม่ต้องดิ้นรนในการหาเงินทองมาเพื่อสนองกายใจตน พอใจในปัจจัยที่พึงมีพึงได้ ก็อุทิศตนให้แก่งานอย่างเต็มกำลังและเปี่ยมด้วยความเบิกบาน หรือทำงานเพื่องานอย่างแท้จริง นอกจากเวลางานแล้วก็มีการพักผ่อนกายใจที่เหนื่อยล้าอย่างเรียบง่ายและมีเวลาสงบจิตสงบใจในธรรมชาติที่อุดม ทำให้จิตใจที่ขัดเกลาอย่างอ่อนโยนและประณีต ส่งทอดมาสู่ข้าวของเครื่องใช้ ที่ถุกออกแบบให้ “น้อยแต่มาก”อย่างยิ่ง จะว่าไปเมื่อจิตใจสงบลง ฝุ่นผงในน้ำที่เคยขุ่นก็เริ่มตกตะกอน ทำให้พวกเขาเห็นอะไรๆชัดขึ้น และความงาม ก็ปรากฏอย่างเปล่าเปลือยโดยไม่ต้องการการประดับประดาอะไรอีกต่อไป จนครั้งหนึ่งพวกเขากล่าวกับสังคมภายนอกที่กำลังหลงไหลในความหรูหราฟุ่มเฟือยว่า “สิ่งที่คุณเรียกมันว่าความงามนั้น เป็นสิ่งที่น่าขันและวิปริต มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย” นั่นแสดงถึงความภูมิใจและมั่นใจในวิถีของตนอย่างยิ่ง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ชีวิต Shakersนั้น สามารถสรุปเป็นประโยคสั้นๆได้ว่า


“อย่าทำอะไรที่ไม่จำเป็น”
“Do not make what is not useful”

ไม่ว่าสิ่งดีงามหรือเลวร้าย มีรุ่งเรืองย่อมมีโรยรา แม้ว่าปัจจุบันชุมชนShakerจะเหลือเพียงสองแห่ง กับสาวกอีกหยิบมือ แต่เรื่องราวทั้งรูปธรรม นามธรรมก็ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างดีเพื่อการศึกษาของชนรุ่นหลังต่อไป
Shaker แสดงให้เห็นว่าการทำงานแบบอุทิศตน เพื่องานอย่างแท้จริงนั้น ย่อมนำมาสู่ความสุขและความเจริญของสังคม และหากเรามีกำลังมากพอเราก็สามารถเดินทวนกระแสไปยังจุดมุ่งหมายอันสูงส่งของเราได้ แม้ว่าในช่วงแรกจะถูกเยาะเย้ยแต่ท้ายที่สุดทุกคนก็ต้องหันมามองและยกย่องในความดีงามที่พวกเขามี เพราะความจริงก็ยังเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ

แม้ว่า Shakers จะเป็นนิกายหนึ่งในคริสตศาสนา แต่ก็มีความสอดคล้องกับหลักของพุทธอยู่มาก โดยเฉพาะการเลี้ยงชีพ เพราะชีวิตที่แสนสั้นแต่มีคุณค่าของเรานี้ไม่ได้มีไว้เพื่อเงินทอง เพียงอย่างเดียว แน่นอนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อหาปัจจัยสี่แล้วตายไป สัมมาอาชีวะหรือการเลี้ยงชีพชอบนั้นจึงมีหลักการมุ่งให้ทุกคนมีปัจจัยสี่แค่พอเพียงแก่การดำรงชีวิต หรือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ไม่มุ่งเน้นให้สมบูรณ์พรั่งพร้อม บำรุงบำเรอไปเสียทุกสิ่งอย่าง เพราะ โดยหลักพื้นฐานของมนุษย์แล้ว ความต้องการ ความอยากของคนนั้นไม่รู้อิ่ม ไม่มีที่สิ้นสุด ป่วยการที่จะปรนเปรอ

คนแต่ละคนแตกต่างกัน ความพอเพียงในแต่ละคน จึงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน บางคนอาจต้องการวัตถุมาก แต่บางคนก็ต้องการวัตถุน้อย ตามสภาพปัญญาที่แตกต่างกัน เมื่อมีปัจจัยพอเพียง เวลาที่เหลือก็นำไปใช้พัฒนาตน คือ ฝึกจิต พัฒนาปัญญา และ นำไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ส่วนพระอรหันต์ที่ท่านต้องการวัตถุใช้สอยน้อยที่สุด และพัฒนาจนสูงสุดแล้ว ก็สามารถใช้เวลาทั้งหมดเพื่อผองชน โดยไม่ต้องพะวักพะวงอีกต่อไป สามารถทำสิ่งที่จำเป็นต่อโลกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

มาถึงตรงนี้เราคงทราบแล้วว่า เราควรทำงานอย่างไร เพื่ออะไร ดังนั้น ไม่ว่าเรากำลังประกอบอาชีพอะไร ก็ลองนำหลักเหล่านี้ไปปรับใช้ ขอเพียง เราได้ ทำในสิ่งที่เราถนัด และทำหน้าที่ของเราเท่าที่เราจะทำได้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สุข ความดีงามของตนและสังคม เท่านี้ คำถามที่ว่า”นี่เรากำลังทำอะไรอยู่”ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ ”ไม่จำเป็น”อีกต่อไป

ขอบคุณอาจารย์ประเทือง ที่เอื้อเฝื้อข้อมูล ชาวshaker ครับ

No comments: