Sunday, December 21, 2008

อัตชีวประวัติในโลง


การเดินทางที่เริ่มต้นด้วยน้ำตา
และจบลงด้วยความเศร้าโศก

กับความเวิ้งว้างในหนทาง
เมื่อเวลาว่างงเป็นดั่งอสูรร้าย

ความหยุดนิ่งทำให้เราเป็นทุกข์
ทั้งที่ปากทางแห่งความหลุดพ้นอยู่ข้างๆ

ความพิศวงที่ไม่รู้
คือ การพิสูจน์ที่ไร้จุดจบ

การแสวงหาที่ไม่เคยค้นพบ
กับคำว่าชีวิตที่ยากจะเข้าใจ

ยิ่งใกล้ทำไมยิ่งไกล
เอาแต่รอเล็คเชอร์
จากอาจารย์จอมปิ้งแผ่นใส

ยิ่งใกล้ทำไมยิ่งไกล
เอาแต่รอเล็คเชอร์
จากอาจารย์จอมปิ้งแผ่นใส

นายชีวิต ความฝัน เป็นสามีของนางชีวา ความฝัน
บิดาของนายสมหวัง และสมใจ ความฝัน เกิดที่บางรักชาติ
เรียนประถมที่โรงเรียนเตรียมมัธยม เรียนมัธยมที่เตรียมอุดมศึกษา
เรียนอุดมศึกษาที่เตรียมทำงาน และทำงานที่บริษัทเตรียมเรียนนอก
นายชีวิตเป็นคนดี มีน้ำใจ เป็นที่รักของเพื่อนฝูง
เป็นพ่อที่ดีของภรรยาและลูกทั้งสอง
เป็นคนขยัน เคยได้รับรางวัลพนักงานดีเด่นสามปีซ้อน
หลังเกษียณชอบอ่านหนังสือและปลูกต้นไม้
นายชีวิตชอบเข้าวัดและทำบุญเป็นประจำ

ขอให้ทุกท่านยืนแสงดความเคารพแก่นายชีวิต สัก ๑ นาที

นับจากนี้
เพียงรอยจารึกบนสุสาน ตำนานเล่าขานขี้ปากแห่งผู้คน
อนุสาวรีย์ มรดก เศษผงและรูปถ่ายบนหิ้งริมผนัง
คืนวันแห่งอดีตจบแล้ว ฉับพลัน
อัตชีวประวัติยาวสั้น ใครเขียนมันขึ้นมา
ชีวิตที่เราเป็นคอนดักเทอร์
หรือเป็นเพียงเลคเชอร์
จากอาจารย์จอมปิ้งแผ่นใส

ชีวิตที่เราเป็นคอนดักเทอร์
หรือเป็นเพียงเลคเชอร์
จากอาจารย์จอมปิ้งแผ่นใส

Tuesday, December 16, 2008

รู้ทัน


ตื่นหกโมงครึ่ง

...

ตื่นเจ็ดโมงสิบ

...

ตื่นแปดโมง

...

ทำไมไม่ยอมลุกนะ

หงุดหงิดแล้ว

ไดอารี่

วันจันทร์ที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมงานรพีเสวนา ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานนี้จัดเป็นครั้งแรก โดยอยู่ในหัวข้อเรื่อง”การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท” โดยมีครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย โรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนไทยไท รวมทั้งพี่ๆเพื่อนๆน้องๆที่รู้จักกันเดินกันไปมาเต็มงานไปหมด จะว่าเป็นหน้าเดิมๆก็ใช่อยู่
ความรู้สึกที่ได้มานั้นมีคุณค่ามาก ช่วยเติมพลังให้กับจิตใจ รู้สึกว่าประเทศไทยยังมีหวังจากคนดีๆที่ทำเรื่องเล็กๆตามมุมต่างๆ อาจเรียกได้ว่าปิดทองหลังพระ หรือใต้ฐานพระก็ได้ บุคคลที่มองเห็นคุณค่าของการศึกษาและเยาวชนย่อมเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มองเห็นอนาคตในปัจจุบัน เพราะเด็กหาใช่อนาคต แต่เป็นปัจจุบันที่เปี่ยมด้วยพลังความดี การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุกๆระดับและรอบด้าน การศึกษาทางเลือ(ที่ควรจะเป็นทางหลัก) จะนำปัญญาที่กลั่นกรองเข้าทดแทนความรู้ที่มากจนเกินไป ในโลกนี้ ซึ่งจะนำพาไปสู่การเข้าใจชีวิตที่แท้จริง
คุณครูท่านหนึ่งพูดว่า”รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากๆที่ได้เป็นครู เพราะเป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข เป็นอาชีพที่มีคนจ้างให้เราเรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลา“ ผมมีความสุขทันทีเมื่อเห็นใบหน้าเปี่ยมยิ้มของคุณครู
การเสวนาที่ส่วนมากจะทำให้ผมง่วงนอนแต่วันนี้กลับตื่นเกือบตลอด(มีหลุดบ้างหลังกินข้าว) ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความเข้มข้นของเนื้อหาในงาน
ภายนอกยังมีซุ้มของโรงเรียนต่างๆให้เด็กพาเข้าไปเล่น หรือนำเสนองานต่างๆ และเป็นเด็กที่น่ารักๆทั้งนั้น ที่สำคัญพรีเซนเก่งมากด้วย๕๕๕
สุดท้ายวันนี้ก็ได้เจอเพื่อนผองที่เรียนอยู่ที่อาศรมศิลป์ คุ้ง น้ำ ชาย สองคนหลังนี่ไม่ได้เจอนานมาก ทำให้ดีใจไม่ใช่น้อย มองดูเพื่อนกำลังก้าวไปในหนทางของตนๆ เราเองก็จะพยายามเช่นกัน

เย็นวันอังคาร ก็มีนัดไปนั่งคุยกับพี่ภิญโญ ที่โอเพ่น รู้สึกเหลือเกินว่าอารมณ์ความรู้สึกเหมือนเมื่อวานคือ มีแรงบันดาลใจและความหวังมากยิ่งขึ้น โปรเจคต่างๆดูจะเป็นรูปเป็นร่างเมื่อมีผู้ใหญ่คอย ใส่ความคิดคมๆ ด้วยประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำมาแล้วอย่างดี นั่งจิบชาจอกแล้วจอกเล่าที่พี่เล่นเติมไม่ยั้ง ทำให้การสนทนาไม่ติดขัดและไหลลื่น เวลาหมดไป หนังสือเริ่มตั้งข้างหน้าผมเล่มหนึ่ง ผมก็ยื่นหนังสือธรรมะที่ทำกับณขวัญสวนไปได้เล่มหนึ่ง แต่พี่ก็ยิงไม่ยั้ง สุดท้ายได้หนังสือกลับไปอ่านฟรีสามเล่มใหญ่ พอเสร็จเรื่องคุย ต้องขอกลับก่อนเพราะถ้านั่งต่อไปหนังสืออาจหมดสำนักก็เป็นได้ เจอกันใหม่อีกทีปีหน้าฟ้าใหม่
อะไรก็คงจะดีขึ้น ปีใหม่ที่จะถึงขอให้ความหวังและแรงบันดาลใจได้มีโอกาสแทรกเข้าสู่กระแสใจของทุกๆคน ให้มากเท่าที่จะมากได้

๑๗ ธ.ค. ๕๑

Tuesday, December 02, 2008

เย็นอากาศ


กังหันเดียวดาย
ยังคงหมุนไป
เย็นที่ฟ้าครื้มฝน
ความหวังดำรง
น้ำคงสะอาดสักวัน

ชีวิต แล่นไป
หายใจ ไม่รู้
โลกหมุน ไม่รู้
คิดไป ไม่รู้
ไม้ไหว ไม่รู้
ไม่รู้ก็ไม่รู้
รู้ก็ไม่รู้

ชีวีหยุดไหล
หายใจ ก็รู้
โลกหมุน ก็รู้
คิดไป ก้รู้
ไม้ไหว ก็รู้
ไม่รู้ก็รู้
รู้ก็รู้

น้ำกลิ้งบนบัว
หลิวเรียงริมบ่อ
สยายม่านใบสลวย
ยอดไม้โคลงเคลง
เมฆเคลื่อนไปทางซ้าย
อย่างเชื่องช้า
ทุกสิ่งในคลื่นน้ำ
ยิ่งไหว ยิ่งไหว

เดินต้านลมหนาว
สัมผัสยอดหญ้า
เย็นน้ำยอดใบ

ใบไม้ทิ้งใบ ไวผ้าแห้ง
แสงตัดหมอกเช้า นอนซุกผ้าห่ม
ลมเปลี่ยนทิศ ชีวิตเปลี่ยนผัน
ฉันไม่เปลี่ยนแปร

ค่ำหลังฝน
สองมือยันแก้ม
อุ่นดีจัง

๒๒ ตุลา ๕๑

ทำบัตรประชาชน


ต้องคดีอาญา
เป็นผู้ต้องหา
ทำความผิดฐาน
ไม่ม่บัตรใหม่ภายในกำหนด
๓ ธ.ค. ๕๑

เย็นนั้นเย็น



เย็นนั้นเย็นแล้ว
เย็นนี้เย็นดี
เย็นหน้ายังมี
เย็นมีเย็นใจ

เย็นไพรเย็นฉ่ำ
เย็นไหลเย็นน้ำ
เย็นเนื้อเย็นนาง
เย็นเยือกเย็นไป

เย็นนอกเย็นใน
เย็นไม่เย็นชา
เย็นหูเย็นตา
เย็นจิตเย็นใจ

เย็นมาเย็นคง
เย็นมาเย็นไป
เย็นเปลี่ยนแปรไป
เย็นใจเย็นนาน

๕๑ ตุลา ๑๘

ขู่ไล่


เขมรขู่ไทย
รัฐขู่ประชาชน
ประชาชนขู่ ตร.
หมาก็ขู่กัน

ตร.ไล่ประชาชน
ประชาชนไล่รัฐ
เขมรไล่ควาย
อย่างน้อย

อย่าเป็นควายให้เขาไล่

หมาถูกรถชนริมทางเดิน


วันแรกเธอตายอยู่ริมเสา
ฉันร้อนใจ
วันสองเธอเริ่มเน่า หนอนไต่
กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศล
ฉันสบายใจ
วันสามเธอถูกฝังด้วยฟางข้าวริมทาง
ฉันผ่อนคลาย
๕๑ ตุลา ๑๐

ตุลาดำ


ความวุ่นวายโกลาหล เกิดขึ้นที่กลางเมือง
รัฐะชั่วช้าร่ายรำศาสตรา
ชาวประชา น้ำตานอง แต่ใจผยอง
แทบทั้งชาตินั่งนอน ดูละคร ฟังเพลง
ปล่อยให้ชะตา วาสนาละเลงลั่น
นั่งรอ นอนรอ วันตาย ด้วยพิษมะเร็งร้าย
อนิจจาๆ
ภูมิคุ้มกันแข็งแรงยิ่ง พยายามยิ่ง
แต่ชัยชนะต้องอยู่ที่ร่างกาย
หาใช้ภูมิคุ้มกันหรือมะเร็ง
อนิจจาๆ
ตัวอยู่ตรงนี้ สงบยิ่งนัก รมณียัง รมณียัง
แต่ใจสั่นท้ามด้วยเสียงครวญคร่ำ
อย่าให้มีแย่ไปกว่านี้เลย

ต้นไม้ปลูกโดยคนกลุ่มหนึ่งแล้วจากไป
หมดไป สิ้นไป สิ้นใจ
ปล่อยทิ้งร้าง
จอมปลวก เพลี้ย กาฝาก คราคร่ำ
พื้นดินร้าวระแหง
ไร้น้ำชุบชูใจ
ต้นไม้เอ๋ย เจ้าต้องหลั่งน้ำตา ที่ละหยด หยาด
เพื่อรดราด รั้งตัวให้ยงยืน
คร่ำครวญ สั่นท้ามถึงใจ
เสียงใบเสียดซ่านเสียง

ไม่ใช่ที่ของฉัน ฉันยังไม่พร้อม
ไม่ใช่บ้านของฉัน ฉันยังไม่พร้อม
๕๑ ก.ย. ๘

ตุลาดำ

โซ้ยซิ่ม
เช้านี้เตรียมไปเยี่ยม
ตกเย็นกลายเป็นสวด
อีกสี่วันเผา
ชีวิตเขา เราไม่ต่าง
..................
ตำรวจปราบหนัก
ดุจมารถือมีดห้ำหั่น
ขาขาด แขนขาด เลือดสาด
หญิงสาวพลีชีวีสังเวยระเบิด
รูปในกรอบ อยู่ในมือคู่หมั้น
เธอสวมชุดครุย ใบหน้าเปื้อนยิ้ม
เธอผู้น่ารัก เธอผู้เป็นความหวัง
แต่เธอจากไปแล้ว
แต่เธอจากไปแล้ว
แต่เธอจากไปแล้ว
สะเทือนในใจ
คร่ำครือในจิต
ญาติมิตรแห่เยี่ยมเยียน
เมื่อวานยืนในชุมนุมชนคาคับ
วันนี้เหยียดกายในกล่องไม้
แดดายแคบคั่น
สวรรค์จะกว้างกว่านี้ สบายกว่านี้
และสมควรแด่เธอ....กว่านี้
“อังคณา” เธอจากไปแล้ว
“อังคณา “เธอจากไปแล้ว
“อังคณา” เธอจากไปแล้ว

ชีวิตเขา เราไม่ต่าง
..............
ตุลาดำ

ทั้งที่รู้ก็ยังคิด

คิดถึง คิดถึง
คิดถึงอดีต ทั้งดีและโศก
คิดถึง คิดถึง
คิดถึงอนาคต ทั้งสุขและเศร้า
ชีวิตมีแต่ทุกข์และการแสวงหา
เรื่อยไปอย่างนี้หรือ เหมือนไร้ขอบเขต
รู้อยู่ รู้อยู่
รู้อยู่อย่างนี้ก็ยังอยาก
รุ้อยู่ รู้อยู่
รู้ว่าข้างหน้านั้น ไม่ง่ายเลย

ความรู้และจินตนาการ


ใช้เวลาในการกิน การนอน
ให้น้อย แต่พอดี
ที่เหลือทั้งหมด
เพื่อจินตนาการและความรู้

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
แต่เมื่อใดความรู้สุกปลั่ง
จินตนาการจึงมี
................
จงอย่าอยากเป็นคนนั้น คนนี้
สิ่งเดียวที่เราทำได้
คือ เป็นตัวเอง อย่างสูงสุดเท่านั้น
๕๑ ก.ย. ๑๙

ถึง

เดินรวดเดียวก็ถึง
เดินๆพักๆก็ถึง
สำคัญที่ยังเดิน
และฉลาดรู้ว่า
เมื่อใดควรเป็นกระต่าย
เมื่อใดควรเป็นเต่า

การปราศจากที่มา

ปราศจากที่มา
การเหินห่างจากต้นกำเนิด
ความมืดบอกของที่มา
ความสะบั้นซึ่งต้นสาย ปัจจัย
ย่อมทำให้ใจเรากระด้าง
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

๕๑ ก.ย. ๑๘
เมื่อใดเราได้สัมผัสความงามอย่างแท้จริง
เมื่อนั้น โดยไม่รู้ตัว
เราก็ได้เป็นความงามนั้นเสียแล้ว
...............
อย่าพยายามค้นหาความงาม
แต่จงเป็น
...............
ปราศจากที่มา
การเหินห่างจากต้นกำเนิด
ความมืดบอกของที่มา
ความสะบั้นซึ่งต้นสาย ปัจจัย
ย่อมทำให้ใจเรากระด้าง
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
๕๑ ก.ย. ๑๘

วันเกิดครบ ๒๕

ตลอดชีวิตนี้
มีปีที่ 25
แต่ในวัด
..............
ถ้าชีวิตคนหมดความหวัง
ย่อมยากที่จะก้าวเดิน
แม้ความหวังเล็กน้อย
ก็ควรทะนุถนอมไว้
..............

วันเกิดกำลังจะผ่านไป
ในคืนไร้จันทร์
นับฝนพรมกาย
...........

พรวันเกิด
ขอให้ชีวิตนี้
ได้ตอบแทนพระคุณ
แด่ทุกๆสิ่ง อย่างที่สุด
มีสุขภาพเอื้อเฝื้อ
มีความมั่นคงแลงดงามแห่งใจ
มีความเข้าใจในสรรพสิ่ง
เพิ่มขึ้นและลึกซึ้งขึ้นตลอดเวลา
ในเขตแดนแห่งความเข้าใจตน
และพอใจในตนด้วย
................


๕๑ ก.ย. ๑๗
"ขอให้เราทำ เท่าที่เราทำได้"
ชายชราโรงสีลมกล่าวแก่ลุงฟู


“อาจเป็นไปได้ว่าในยุคต่อไป จะไม่มี ใครอยากเชื่อว่า
บุคคลเช่นนี้เคยมีอยู่บนโลกนี้”

ไอน์สไตน์ถึงคานธี


กลับไปไม่กลับมา

ทรายจมเป็นรอยเท้า
ไปกลับไม่ซ้อนทับ
เช้าออกกรรมฐาน

เช้ากวาดแล้ว
เย็นก็กวาดอีก
เสียงเพลงไม้ไผ่
เสียงกวาดครืดคราด

สะอาดก็สะอาด
สกปรกก็สกปรก
กวาดไปกวาดมา
สกปรกก็สะอาด
สะอาดก็สกปรก

ไม่มีอะไร


มองจากบนฟ้า ที่ใกลแสนไกล
ค่อยๆลอยออกไป จากพื้นดิน
เรายังคงเป็นเรา เท่าๆกับที่คุ้นชิน


สูงขึ้นไปอีกนิด เริ่มมองเห็นเราเล็กลง
ค่อยๆเปลี่ยนเป็นจุด จากที่เห็นเป็นคน
แล้วก้อนกลมสีฟ้าขาว ก็ปรากฏในบัดดล

ไกลออกไป ยิ่งไกลออกไป
ไม่มีอะไร ไม่มีความหมาย แห่งคุณค่าความเป็นเรา
โลกอันยิ่งใหญ่ก็เพียงแสงเงา ของฝุ่นฝอยคละเคล้าในจักรวาล

เราแสนยิ่งใหญ่ ผยองว่ายิ่งใหญ่
ที่แท้เพียงธุลีเถ้า ในเถาฝุ่น

มองใกล้เข้าไป จากตัวของเรา
ค่อยๆมองเข้าไป จากผิวกาย
เรายังคงเป็นเราเท่าๆกับที่คุ้นชิน

ลึกลงไปอีกนิด ไม่รู้ว่าคืออะไร
ที่นี่ไม่มีเส้นแบ่ง ข้างนอกข้างใน
มีเพียงที่ว่างกว้างใหญ่ สีแดงฉานตระการตา

ลึกลงไป และยิ่งลึกลงไป
ไม่มีอะไร ไม่มีความหมาย แห่งคุณค่าความเป็นเรา
ตัวตนอันยิ่งใหญ่ก็เพียงแสงเงา ของฝุ่นฝอยคละเคล้าในจักรวาล


๑๙ พ.ย. ๕๑

ขอแค่เป็นฉัน

ถ้าฉันเป็นทางเดิน ขอเป็นทางที่นำเธอไป
ไม่ต้องกว้างขวางยิ่งใหญ่ แต่ปลอดภัยสวัสดี

ถ้าฉันเป็นเรือ ขอเป็นเรือน้อยแรงพาย
ไม่มีเครื่องยนตร์พ่วงท้าย จุดหมายเชื่องช้าแต่แช่มชื่น

ถ้าฉันเป็นดวงดาว ขอเป็นเพียงแสงเล็กๆบนฟากฟ้า
จุดความสว่างให้นภา ไม่ต้องเจิดจ้าดั่งแสงจันทร์

ถ้าฉันเป็นดอกไม้ ขอเป็นดอกหนึ่งในแจกัน
ไม่หวังประชันแข่งขัน เพียงส่งกลิ่นเติมฝันให้เธอ

ถ้าให้ฉันขอเพียงสักอย่าง
คงไม่มากมายซักเท่าไร
ให้ได้เป็นฉันอย่างนี้ต่อไป
แต่เป็นไปอย่างดีที่สุด เท่านั้นเอง

ฉัน ไม่วาดหวังความยิ่งใหญ่ ฉัน ไม่วาดหวังจะโด่งดัง
ฉัน เพียงยินดีทำงานอยู่ข้างหลัง เพื่อเชิดชูความหวังให้ผองชน

Friday, November 28, 2008

อานันทะ ก. กุมารสวามี กล่าวว่า “ศิลปะในทัศนะของคนยุคกลาง จัดเป็นความรู้แขนงหนึ่ง ศิลปินเป็นผู้จินตนาการรูปทรงและออกแบบงานศิลปที่ตนจะทำโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นนั้น สิ่งที่ทำขึ้นมานั้นไม่ได้เรียกว่าศิลปะ แต่เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยมือและทำขึ้นอย่างมีศิลปะ ส่วนศิลปะนั้นยังคงอยู่ในศิลปิน นอกจากนี้ยังไม่มีการแยกคำว่าวิจิตรออกจากคำว่าประยุกต์ หรือศิลปะบริสุทธิ์ จากคำว่าศิลปะตกแต่ง ศิลปะทุกอย่าง สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่ดี และประยุกต์ให้เข้ากัยสถานการณ์ ศิลปะอาจประยุกต์เพื่อประโยชน์ใช้สอยอันสูงส่ง หรืออาจประโยชน์ทั่วไปก็ได้ แต่ไม่มีศิลปแขนงไหนต่ำต้อยด้อยค่ากว่าอีกแขนงหนึ่ง”

Thursday, November 27, 2008

ต่อโทที่วัด ๑. ความเป็นมา

ผมมีความสนใจและศรัทธาในพุทธศาสนาตั้งแต่เด็กๆ รู้สึกลึกๆในใจเสมอว่าพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ มีหลายแง่หลายมุมที่น่าศึกษา สิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุปัจจัย เพราะป๊าและ คุณแม่เป็นคนสนใจธรรมะ ทั้งการฟังธรรม อ่านหนังสือ หรือการเข้าอบรมปฏิบัติกรรมฐาน รวมทั้งการทำบุญในงานต่างๆมิได้ขาด ในขณะที่ชีวิตการงาน ก็ทำด้วยความซื่อสัตว์ หวังดีกับคนรอบข้างและชาติบ้านเมืองอยู่เป็นนิสัย ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าที่เด็กอย่างผมได้ซีมซับ และรู้สึกเสมอว่าเรานั้นโชคดีที่เป็นลูกท่าน สิ่งดีงามที่ท่านได้มอบให้เป็นมรดกนี้ เลอค่ากว่าทรัพย์สินใดๆ
อีกส่วนหนึ่งที่เห็นว่าอาจจะสำคัญไม่แพ้กันคือ บ้านเกิดผมเต็มไปด้วยวัดและพระ ทั้งพระภิกษุสามเณร และพระพุทธรูปทุกขนาดทุกรูปแบบ รวมทั้งอัฐบริขารต่างๆ อีกทั้งศาลเจ้าใหญ่ และโบสถ์พราหมณ์ ทำให้ผมต้องเดิน วิ่ง ขี่จักยานผ่านอยู่ทุกวี่ทุกวัน จนมีเพื่อนหลายคนบอกผมว่า หน้าเหมือนพระพุทธรูป เข้าไปทุกที แต่ความคุ้นเคยเหล่านี้กลับเป็นเครื่องกระตุ้นความสงสัยในใจอยู่เสมอว่า ศาสนาที่เรานับถือนั้นไม่ได้มีแค่สิ่งเหล่านี้แน่ๆ ต้องมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น!

สำหรับผมเองได้มีโอกาสสัมผัสศาสนาจริงจังมากขึ้น เมื่อป๊าแม่สมัครให้ปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคม
ซึ่งเป็นครั้งแรกกับการเข้ากรรมฐาน แม้ว่าจะห้ามเด็กทะโมนอย่างผมพูดคุย แต่ให้นั่งๆ เดินๆ เงียบๆอยู่ทั้งสัปดาห์ผมก็กลับมีความรู้สึกว่ามีความสุขมากจริงๆ อาจจะมากพอกับการได้วาดรูป (ผมชอบวาดรูปมาก) เพราะนอกจากกระดาษกับดินสอแล้วก็คงมีแต่การมีเจริญสติเท่านั้น ที่ทำให้ผมสงบได้
ชีวิตเด็กชายจนเป็นนายที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร เป็นนักเรียนเรียนดีที่ไม่ดีมาก ทำกิจกรรมแต่ไม่ทำมาก และอะไรอีกหลายๆอย่าง ที่ผ่านไปด้วยความสนุกแบบเด็กหนุ่มธรรมดาๆ ชีวิตเคลื่อนคล้อยไปตามครรลองของการเรียนตามแบบฉบับคนทั่วไปจนกระทั่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในที่สุด

การเรียนในมหาวิทยาลัยก็เป็นบันไดหนึ่งที่ผมได้เข้าใจชีวิตตัวเองมากขึ้น เมื่อเข้าใจมากขึ้นก็ย่อมเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นไปด้วย การได้พบปะกับคนหลากหลายโดยเฉพาะผู้หญิง ที่ไม่เคยได้ร่วมเรียนมาก่อนก็เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ทำให้ชีวิตมีสีสันมากขึ้น การทำกิจกรรมทำให้เราเติบโตอย่างมาก และถึงบัดนี้ยังรู้สึกว่าช่วงเวลาแห่งอุดมศึกษเป็นช่วงชีวิตที่น่าสนใจช่วงหนึ่งทีเดียว

แต่ช่วงเวลาดังกล่าวดูเหมือนว่าจะห่างไกลจะศาสนาโดยตรงไปพอสมควร มีแต่การศึกษาโดยอ้อมของหลักชีวิต ทั้งจากหนังสือ จากการเรียนรู้จากคนอื่นและตนเอง อันที่จริงแล้วก็มีความต้องการออกบวชในช่วงปิดภาคเรียนเสมอ แต่ก็หลีกหนีภาระที่มีอยู่ไม่ได้เสียที หลังจากจบการศึกษา หมดภาระแล้วก็เตรียมตัวบวชได้สมใจ
แต่เจ้ากรรมวัดที่ผมประสงค์จะบวชนั้น ต้องสมัครเข้าคิวรอกันนาน บางคนรอกันเป็นปี ส่วนตัวผมนั้น รออยู่ปีกว่า ถึงจะได้บวชสมใจ แต่เมื่อคิดย้อนกลับไปก็เหมือนเป็นธรรมจัดสรร เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวที่ได้ทำงานและท่องเที่ยว กลับกลายเป็นช่วงที่เป็นรากฐานให้การศึกษาพระธรรมนั้นเข้มข้นขึ้นอย่างมาก
จากความตั้งใจเดิมที่จะใช้เวลาเพียง ๑-๓ เดือน เพื่ออกมาเตรียมตัวเรียนต่อในสาขาที่ตั้งใจไว้ต่อไป แต่ด้วยความสุขและความดีงามที่เกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้ผมอยู่ที่นั่นยาวนานจนกลายเป็น สองพรรษา และทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ได้มาเรียนต่อ “ปริญญาโท” ที่วัด ที่ไม่ว่ามหาวิทยาลัยไหนก็สอนกันไม่ได้ ผมรู้สึกซาบซึ้งในคุณพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง ที่ได้มอบปัญญา และขอบคุณญาติมิตรที่ออกทุนเล่าเรียนให้โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆเลย จนทำให้ผมต้องตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ณ ขณะที่ผมพิมพ์อยู่นี้ ผมเองได้ลาสิกขามาอยู่ในเพศเดิมแล้ว และหลังจากที่ได้พบปะพูดคุยกับ ครูอาจารย์ ญาติมิตรและเพื่อนฝูง มีคำถามอยู่สองคำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุด คือ “ได้อะไรบ้าง” กับ “จะทำอะไรต่อ” ซึ่งผมก็ตอบกับทุกคนอย่างเต็มใจ และยินดียิ่ง คำถามแรกเป็นคำถามที่ยาวแต่ตอบง่าย แต่คำถามหลังเป็นนั้นตอบสั้นแต่ยาก อย่างไรก็ตามผมก็จะพยายามตอบคำถามยาวๆและสั้นๆให้ทุกๆคนได้อ่านกัน เผื่อจะเป็นความรู้ ความเข้าใจและแรงบันดาลใจให้กับใครคนใดคนหนึ่งในโลกนี้ก็ได้
เพราะแม้จะเป็นเพียงคนเดียวผมก็ถือว่าผมได้ทำสิ่งที่ต้องทำสมบูรณ์แล้ว

ศิลปินคือโยคี

ศิลปินคือโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อรู้แจ้ง ในความเชื่อของอินเดียครั้งหนึ่งมีว่า ศิลปะนั้นแป็นศาสตร์หนึ่งแห่งการฝึกโยคะ เพราะศิลปะทำให้อารมณ์(สิ่งที่ภาวนา)และผู้ภาวนาหลอมรวมเป็นหนึ่งไม่แบ่งแยก อันนำไปสู่เอกภาพอันกลมกลึงแห่งจิต

ศิลปะจำเป็น

“คนที่บอกว่าศิลปไม่ได้นำชีวิตที่สะดวกสบายมาให้นั้น ควรจำไว้อย่างหนึ่งว่า...ศิลปะนั้นมีสองด้าน ด้านหนึ่งให้ความเบิกบาน ส่วนอีกด้านหนึ่งให้เงินทอง ด้านหนึ่งเรียกจารุศิลปะส่วนอีกด้านเรียกว่าการุศิลปะ จารุศิลปะปลดปล่อยเราจากความมีจิตใจคับแคบที่สร้างขึ้นโดยความเจ็บปวดและเคร่งเครียดของชีวิตประจำวัน การุศิลปะไม่เพียงทำให้การเดินทางของชีวิตงดงามจากการสร้างสรรค์ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่งดงามด้วยฝีมืออันปราณีตเท่านั้น หากยังหาอาหารมาเลี้ยงปากท้องเราทุกวันอีกด้วยประเทศของเราถูกทำให้ยากจนขาดแคลนเพราะความตกต่ำของงานหัตถกรรมของเรานี่เอง”

“ที่ทางของศิลปะในการศึกษา”
นันทลาล โบส

ร้องเงียบ


กา ร้อง
ยูง ร้อง
นก ร้อง
ไก่ ขัน

ฉัน เงียบ

salmon

I’m on my way
Look forward to see
The best that it should be
May be I could reach.

On my wayyy
Lonely come through me
Nobody beside me
My friend is destination

my way
hope love peacefully
open the eye in a newside
for everyone

they let themselves
too easy
flow in the river of shame
that river that Im in now

Salmon Sallll mon!
Hope that someday.
Others will swim this way.

For goodness

We are just a crazy things
in this very small world.

What you wanna be
What you pretend to
What a good thing
What you’re wasting

It doesn’t mean self
It doesn’t mean you
It doesn’t mean me
It doesn’t mean any!

It doesn’t mean self
It doesn’t mean you
It doesn’t mean me
It doesn’t mean any!


Salmon Salmon!
Hope that someday.
Others will swim this way


So tired now

World-Run-Circle

I used to look up to my sky.
it's blank and bright in side mymine
Wind blown all clouds.
Sun dried all rain."

"World-Run-in Circle,
staying is changing
changing likes being
being is nothing
Nothing means things"


"World-Run-Circle,
No more rain It's time for winter.
but then I can't hold it,leaving to summer.

Its Happen again
Its staying a while
And Theres the end
This is our life

You born again
You stayin alive
And die in the end
Just this, like a circle
"Just a "Round Round Round
Round Round Round Round
Round Round Round
Round Round Round Round"


"there's no end nor begining.
there's no seperate line,
or maybe I now far beyond.
or maybe I now on journey,
backward to an origin.
but there's no begining nor ending.
so i travel nowhere.
Well, is it mean I'm staying?
but staying is changingchanging is beingbeing is nothing

" "World-Run-Circle,"

"Round Round Round
Round Round Round Round
Round Round Round
Round Round Round Round"


"but staying is changingchanging is beingbeing is nothing"

"Round Round..... Round

Just that

Lyrics : Jakpranee & me
Arrange : jo

ความยากจนเปิดทางสู่ความรู้แจ้ง


"ขอต้อนรับเข้าสู่

สภาวะยากจน

อันประเสริฐ

และเปี่ยมด้วยปัญญา"
“มีคนที่คิดว่า ด้วยการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายอย่างที่ปฏิบัติกันในโรงเรียนของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ากำลังเผยแพร่คำสอนว่าความยากจนเป็นสิ่งอันพึงปรารถนาตามอุดมคติที่แพร่หลายอยู่ในยุคกลาง... แต่หากมองจากมุมมองด้านการศึกษาแล้ว ไม่ควรหรอกหรือที่เราจะยอมรับว่าความยากจนนั้นเป็นโรงเรียนที่มนุษย์จะได้รับบทเรียนบทแรกและการอบรมที่ดีที่สุด? กระทั่งมหาเศรษฐีก็ยังต้องเกิดมาอย่างยากจนสิ้นหวังและเริ่มบทเรียนของชีวิตตั้งแต่ต้น เขาต้องหัดเดินเช่นเดียวกับเด็กที่ยากจนที่สุด แม้ว่าเขาจะมีทรัพย์สมบัติมากมายที่ช่วยให้เขาไม่ต้องใช้ขาเดินก็ตาม ความยากจนทำให้เราได้สัมผัสกับชีวิตและโลกอย่างเต็มเปี่ยมเพราะการมีชีวิตอย่างร่ำรวยนั้นเป็นการมีชีวิตโดยอ้อมที่ผ่านการกระทำการต่างๆแทน โดยผู้คนที่อยู่รายรอบ จึงเท่ากับมีชีวิตอยู่ในโลกที่ห่างไกลจากความเป็นจริง นี่อาจจะดีสำหรับความเพลิดเพลินและเกียรติยศขแงเขาผู้นั้น แต่ไม่ใช่สำหรับการศึกษา ความมั่งคั่งเป็นกรงทองขังลูกๆของคนรวยที่ถูกฟูมฟักเลี้ยงดูจนเสียพลังแห่งการสร้างสรรค์ ดังนั้นในโรงเรียนของข้าพเจ้าจึงต้องสนับสนุนครูที่ยอดเยี่ยมคนนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นที่ขยะแขยงอย่างยิ่งสำหรับพวกเศรษฐีมีสตางค์ นั่นคือความว่างเปล่า ไร้เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์ใดๆไม่ใช่เพราะว่านั่นคือความยากจน แต่เพราะว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่ประสบการณ์ส่วนตัวต่อโลกของแต่ละคนต่างหาก...”

“โรงเรียนของข้าพเจ้า”
รพินทรนาถ ฐากูร

อย่าทำอะไรที่ไม่จำเป็น

เคยมีคำถามในใจเหมือนผมไหมครับ มันเกิดขึ้นในวันหนึ่งขณะทำงาน ว่า ”นี่เรากำลังทำอะไรอยู่” เป็นคำถามง่ายดายดารดาษ แต่ลึกล้ำ เป็นความสงสัยที่เกิดขึ้นจากเสียงเพรียกแห่งจิตวิญญาณของทุกคน จิตวิญญาณที่ต้องการแสวงหาคุณค่าแท้ในตัวเอง

นักดนตรีมีพรสวรรค์ แต่งเพลงไพเราะ เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงมากมาย แต่บางครั้งก็อดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่า เรากำลังทำให้คนลุ่มหลงมัวเมาอยู่หรือเปล่า


นักโฆษณาบางคนอาจเป็นนักคิดที่เก่งฉกาจ สามารถคิดแคมเปญดีๆได้มากหลาย เอาชนะใจผู้ซื้อสบายๆ แต่หากวันหนึ่งเขาต้องทำโฆษณาให้กับบริษัทเหล้า เบียร์ บุหรี่ ความสามารถของเขาก็เป็นเพียงทาสแห่งลัทธิอบายมุขนิยม เท่านั้นหรือ


คนทำงานเพื่อสังคมที่มีจิตใจดีงาม ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น แต่เขาอาจไม่รู้เลยว่าเงินทุนที่ได้มานั้นเกิดจากกลุ่มธุรกิจการเมืองที่คดโกง และคนดีเหล่านั้นก็เป็นเครื่องจักรเล็กๆที่คอยรับใช้แต่งแต้มใบหน้าของนักการเมืองเหล่านั้นให้ดูดี


และอื่นๆอีกมากมาย ประสบการณ์เหล่านี้ย่อมทำให้คำถามที่ว่า “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่” หนักแน่นขึ้น เรามาลองหาคำตอบให้กับความสงสัยนี้ดู


ทุกคนจำเป็นต้องทำงาน คนเราใช้เวลาในการทำงานทั้งชีวิต คิดเป็น แปดชั่วโมงต่อวัน ห้าวันต่อสัปดาห์ ทำงานตั้งแต่ อายุ 25 จนเกษียณ คิดเป็น 67,200 ชั่วโมง อีกแง่หนึ่งเราทำงานแปดชั่วโมงต่อวันคิดเป็น 33.33 % ของเวลาทั้งชีวิต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด มากกว่า การนอน การเที่ยว การกินพักผ่อน หรือเข้าวัด ดังนั้นการประกอบอาชีพ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกินเวลาของเราไปแทบทั้งหมดทั้งมวล เมื่อหักลบเวลาที่ใช้ทำกิจส่วนตัว การเดินทาง แล้ว ชีวิตเราหนึ่งนี้ก็แทบไม่มีเวลาเหลือให้กับสิ่งดีๆในชีวิต การทำงานเพราะจำเป็นต้องทำจึงไม่ควรให้เกิดขึ้น การทำความดี การทำเพื่อสังคม การปฏิบัติธรรม จึงควรทำให้เป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของงาน การใช้เวลาว่างเพียงเล็กน้อยไปกับสิ่งดีงามอาจมีกำลังต้านทานสิ่งหมองมัวไม่เพียงพอ ถ้าหากสามารถหลอมรวมเอาการทำดีเข้ากับการประกอบอาชีพได้แล้ว ก็เหมือนเราทำบุญตลอด ชั่วหนึ่งในสามของชีวิต โดยไม่ต้องดิ้นรนทำบุญทำความดีที่ไหนอีก
มนุษย์ขับเคลื่อนชีวิตด้วยจิต ซึ่งจิตของเราแต่แรกเริ่มนั้นมีธรรมชาติผ่องใส บริสุทธิ์การทำงานในเชิงอุดมคติ การทำงานเพื่อบูชาความดี ความจริง ความงาม จึงเป็นสิ่งที่จิตวิญญาณมนุษย์ปรารถนา เช่น การเป็นแพทย์ เพื่อรักษาโรค การเป็นครู เพื่อสอนให้คนมีความรู้ เป็นชาวนาเพื่อผลิตอาหารให้คนทั้งประเทศ การเป็นข้าราชการเพื่อรับใช้ประชาชน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำงานสนองมิติแห่งปรัชญาโดยแท้เช่นนั้นได้ ส่วนมากแล้ว เรายังต้องเผื่อใจไว้สำหรับความต้องการส่วนตน ทั้งทางด้านวัตถุ เช่น เงินตรา บ้าน รถ หรือคอมใหม่สักเครื่อง ด้านจิตใจ เช่น ความอยากมี อยากเป็น ความทะเยอทะยาน หรือยึดมั่นในทิฏฐิบางอย่างในตัว และแน่นอนที่สุดโลกก็ยังมีความจำเป็นสำหรับอาชีพอื่นๆอยู่ ไม่ว่าอาชีพเหล่านั้นจะหลีกหนีจาก”ความจำเป็น”มากน้อยเพียงไรก็ตาม เพียงแต่โลกก็ทำการสร้างสรรค์และคัดสรรค์อาชีพอยู่ตลอดเวลา อาชีพที่จำเป็นต่อมนุษย์และธรรมชาติเท่านั้นที่จะอยู่คงไม่เสื่อมสลายไป สำหรับเราๆท่านๆที่ทำงานกันอยู่ในองค์กรณ์หรือทำงานอิสระ บางครั้งอาจรู้สึกว่ากำลังทำอะไรอยู่ เกิดความสงสัยในชีวิต หรือขาดความภูมิใจในงานหรือคุณค่าของตัวเอง หมดศรัทธาและความหวังที่งดงามนำพาชีวิต ขอให้เรามีสติและตรึกตรองดูให้ดี ว่าสิ่งที่เราทำนั้น สอดคล้องกับความดี ความจริง และความงามมากน้อยเพียงไร หากสำรวจแล้วพบว่าสอดคล้องและสมดุลกันดี เราก็จะเกิดจิตใจที่เบิกบานกับงานทันที แต่หากสอดผสานแต่ขาดสมดุล เช่น เป็นงานที่ดีแต่ได้เงินไม่พอใช้ เราจะพบว่าความดีของงานกับความจริงที่เราต้องกินต้องใช้ไม่สมดุลกัน อาจเพราะเราไม่คำนึงถึงรายได้หรือเราใช้สุรุ่ยสุร่ายกันแน่ ต้องมาดู หรืออาจพบว่าอาชีพที่ทำนั้นทั้งไม่สอดคล้องเอาเสียเลย ต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมาดูว่าเรามีกำลังความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไหม ถ้าทำได้ก็ทำทันที ถ้าไม่ได้อาจต้องรอจังหวะ ในสถานการณ์นี้ผู้มีกำลังจึงสามารถเลือกทางของตนได้เต็มที่และกว้างขวางกว่า ส่วนผู้ที่ยังอ่อนแอ ยังไม่สามารถก้าวเดินด้วยขาของตนอย่างมาดมั่น แต่หากเริ่มมองเห็นหนทางที่ชัดเจนเบื้องหน้าแล้ว ก็เฝ้ารอเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง เหมือนคติธรรมของเล่าปี่ที่ว่า


“มังกรอาศัยอยู่ในน้ำลึกนิ่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็โผผงาดสู่ฟากฟ้า”


หากนับย้อนหลังไปสู่ ค.ศ.๑๗๗๔ ขณะนั้นได้มีกลุ่มชนชาวอังกฤษ ชนชั้นกรรมาชีพ ไม่รู้หนังสือ กลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเมือง แมนเชสเตอร์สู่รัฐนิวยอร์คเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ความเป็นอยู่เดิมที่แออัดและขาดสุขภาวะ เป็นแรงผลักดันสู่การเริ่มต้นใหม่ด้วยอุดมการณ์อันเปี่ยมล้น ที่จะสร้างชุมชนในอุดมคติ (Uthopia) อันประเสริฐ ปราศจากความเศร้าหมอง สงคราม ความโลภ การเอารัดเอาเปรียบกัน และกามตัณหา(ถือพรหมจรรย์) แต่กอปรด้วยระเบียบวินัย ความสะอาดหมดจด เสียสละ และความดีงาม ทุกๆคนมีความเท่าเทียม กลมกลืนกัน แม้ว่าเพศ วัย เชื้อชาติจะแตกต่าง ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน อันเป็นความคิดที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น (คริสตศตวรรษที่ ๑๙)
Ann Lee(ชาว Shakers เรียกเธอว่า Mother Ann) คือ หญิงผู้บุกเบิก ชุดแรก และเป็นผู้นำกลุ่ม Mother Ann และกลุ่มคนผู้เลื่อมใส เรียกตัวเองว่า The united society of believers (สหสมาคมแห่งผู้เชื่อ(ในพระเจ้า))แต่คนทั่วไปมักเรียกพวกเขาว่า Shakers (คนส่าย) เพราะขณะที่ทำพิธีทางศาสนา พวกเขาจะโยกส่ายไปมา นัยว่าพระเจ้าจับตัวพวกเขาโยกเขย่าเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายให้หลุดออกไป ชาว Shakersรวมกลุ่มและเริ่มตั้งชุมชนแรกที่ Watervliet, New York


แต่การดำเนินชีวิตที่ทวนกระแส ทำให้ในห้าปีแรกนั้นไม่มีผู้เลื่อมใสเพิ่มขึ้น แต่กลับลดน้อยถอยลง เพราะการใช้ชีวิตที่แปลกแยกจากคนในสังคมทั่วไป ทำให้ไม่นานสามีของเธอก็ผละจากกลุ่ม เพราะนางต้องการถือพรหมจรรย์ ส่วนคนอื่นๆก็รับกฏระเบียบที่เคร่งครัดและแรงกดดันจากสังคมไม่ไหวพากันจากไปทีละคนสองคน


แต่ด้วยความหนักแน่นและมุ่งมั่นตั้งใจ Mother Ann และกลุ่ม ทำให้การใช้ชีวิตแบบสงบ สเงี่ยม และสมถะ กลับมาเป็นที่สนใจสำหรับผู้เบื่อหน่ายสงคราม และผู้ที่ไม่มั่นใจกับอนาคตของประเทศที่กำลังจะก่อตั้ง(ประเทศสหรัฐอเมริกา) นับแต่นั้นสาวกและชุมชนถูกก่อตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จวบจนปี ค.ศ. ๑๘๓๐ Shakers ก็เจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีชุมชนก่อเกิดขึ้นอีกหลายจุดในสหรัฐอเมริกา จาก นิวยอร์ค ขยายไปจนถึง KentuckyและOhio โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ New Lebanon, New York และจากผู้เลื่อมใสหยิบมือ ก็ก่อตัวกลายเป็นนับพันคนทีเดียว
Shakers อยู่ร่วมกันกันแบบคอมมูน (Communal Society)โดยมีกฏระเบียบ วิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง มีการตั้งศูนย์กลางการปกครอง ณ Holy Mount ที่เป็นเสมือนศูนย์ฝึกผู้นำ เพื่อส่งไปประจำ ณ ชุมชนเชกเก้อในจุดต่างๆของประเทศ


Shakers อยู่กันเป็นครอบครัว ชายหญิงอยู่ร่วมกันแต่แยกสัดส่วน แบ่งตามบ้านเป็นหลังๆ และมีศาลากลางสำหรับประชุมและนมัสการพระเจ้า โดยมีปรัชญาในการอยู่ร่วมกันว่า “ทุกคนต้องให้อย่างเต็มกำลังและรับเท่าที่จำเป็น” โดยทำงานตามแต่ความถนัด ใครไคร่ปลูกข้าวปลูก ใครไคร่ทอผ้าก็ทอไป โดยแบ่งหน้าที่กันทำสิ่งที่จำเป็นต้องมีในชุมชน กลางวันแยกย้ายกันทำงานและกินข้าวที่โรงอาหารร่วมกัน เย็นก็รวมตัวสวดมนต์ สนทนา เมื่อมีการผลิตสิ่งจำเป็นได้ในกลุ่มโดยไม่ต้องพึ่งโลกภายนอก ชุมชนสามารถจึงพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์พูนสุขและยังสามารถเจือจาน จำหน่ายแก่สังคมภายนอกได้อีก ซึ่งสินค้าเหล่านั้นก็มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย
Shakers มองวัตถุเป็นเพียงสิ่งที่ไม่จีรัง ไร้แก่นสาร และหลีกเลี่ยงความหรูหราฟุ่มเฟือย เน้นความสะอาดเป็นระเบียบ และมีคติในการทำงานที่คล้ายคลึงกับคำสอนของเซนเป็นที่สุด โดยมีคำกล่าวดังต่อไปนี้เป็นเครื่องยืนยัน


“อย่าปูผ้าบบนโต๊ะและวางช้อนเงินสำหรับฉัน แต่ขอให้โต๊ะของเธอนั้นสะอาดพอ
โดยไม่ต้องใช้ผ้าปู และถ้าเธอไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็จงยกให้คนยากตนเสียเถิด”

“จงทำห้องของเธอให้สะอาดอยู่เสมอ
เพราะพระเจ้าจะไม่สถิตอยู่ในที่ที่สกปรก และในสวรรค์นั้นไม่มีฝุ่นสกปรก”

“จงทำงานราวกับว่าเธอจะมีชีวิตอีกพันปี และทำงานราวกับเธอรุ้ตัวว่ากำลังจะตายในวันพรุ่ง”

“ไม่จำเป็นต้องคุกเข่าลงเพื่อสวดมนต์ภาวนา หากว่าท่านกำลังทำงานอยู่ก็สวดภาวนาได้”

เมื่อพวกเขาไม่ต้องดิ้นรนในการหาเงินทองมาเพื่อสนองกายใจตน พอใจในปัจจัยที่พึงมีพึงได้ ก็อุทิศตนให้แก่งานอย่างเต็มกำลังและเปี่ยมด้วยความเบิกบาน หรือทำงานเพื่องานอย่างแท้จริง นอกจากเวลางานแล้วก็มีการพักผ่อนกายใจที่เหนื่อยล้าอย่างเรียบง่ายและมีเวลาสงบจิตสงบใจในธรรมชาติที่อุดม ทำให้จิตใจที่ขัดเกลาอย่างอ่อนโยนและประณีต ส่งทอดมาสู่ข้าวของเครื่องใช้ ที่ถุกออกแบบให้ “น้อยแต่มาก”อย่างยิ่ง จะว่าไปเมื่อจิตใจสงบลง ฝุ่นผงในน้ำที่เคยขุ่นก็เริ่มตกตะกอน ทำให้พวกเขาเห็นอะไรๆชัดขึ้น และความงาม ก็ปรากฏอย่างเปล่าเปลือยโดยไม่ต้องการการประดับประดาอะไรอีกต่อไป จนครั้งหนึ่งพวกเขากล่าวกับสังคมภายนอกที่กำลังหลงไหลในความหรูหราฟุ่มเฟือยว่า “สิ่งที่คุณเรียกมันว่าความงามนั้น เป็นสิ่งที่น่าขันและวิปริต มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย” นั่นแสดงถึงความภูมิใจและมั่นใจในวิถีของตนอย่างยิ่ง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ชีวิต Shakersนั้น สามารถสรุปเป็นประโยคสั้นๆได้ว่า


“อย่าทำอะไรที่ไม่จำเป็น”
“Do not make what is not useful”

ไม่ว่าสิ่งดีงามหรือเลวร้าย มีรุ่งเรืองย่อมมีโรยรา แม้ว่าปัจจุบันชุมชนShakerจะเหลือเพียงสองแห่ง กับสาวกอีกหยิบมือ แต่เรื่องราวทั้งรูปธรรม นามธรรมก็ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างดีเพื่อการศึกษาของชนรุ่นหลังต่อไป
Shaker แสดงให้เห็นว่าการทำงานแบบอุทิศตน เพื่องานอย่างแท้จริงนั้น ย่อมนำมาสู่ความสุขและความเจริญของสังคม และหากเรามีกำลังมากพอเราก็สามารถเดินทวนกระแสไปยังจุดมุ่งหมายอันสูงส่งของเราได้ แม้ว่าในช่วงแรกจะถูกเยาะเย้ยแต่ท้ายที่สุดทุกคนก็ต้องหันมามองและยกย่องในความดีงามที่พวกเขามี เพราะความจริงก็ยังเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ

แม้ว่า Shakers จะเป็นนิกายหนึ่งในคริสตศาสนา แต่ก็มีความสอดคล้องกับหลักของพุทธอยู่มาก โดยเฉพาะการเลี้ยงชีพ เพราะชีวิตที่แสนสั้นแต่มีคุณค่าของเรานี้ไม่ได้มีไว้เพื่อเงินทอง เพียงอย่างเดียว แน่นอนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อหาปัจจัยสี่แล้วตายไป สัมมาอาชีวะหรือการเลี้ยงชีพชอบนั้นจึงมีหลักการมุ่งให้ทุกคนมีปัจจัยสี่แค่พอเพียงแก่การดำรงชีวิต หรือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ไม่มุ่งเน้นให้สมบูรณ์พรั่งพร้อม บำรุงบำเรอไปเสียทุกสิ่งอย่าง เพราะ โดยหลักพื้นฐานของมนุษย์แล้ว ความต้องการ ความอยากของคนนั้นไม่รู้อิ่ม ไม่มีที่สิ้นสุด ป่วยการที่จะปรนเปรอ

คนแต่ละคนแตกต่างกัน ความพอเพียงในแต่ละคน จึงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน บางคนอาจต้องการวัตถุมาก แต่บางคนก็ต้องการวัตถุน้อย ตามสภาพปัญญาที่แตกต่างกัน เมื่อมีปัจจัยพอเพียง เวลาที่เหลือก็นำไปใช้พัฒนาตน คือ ฝึกจิต พัฒนาปัญญา และ นำไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ส่วนพระอรหันต์ที่ท่านต้องการวัตถุใช้สอยน้อยที่สุด และพัฒนาจนสูงสุดแล้ว ก็สามารถใช้เวลาทั้งหมดเพื่อผองชน โดยไม่ต้องพะวักพะวงอีกต่อไป สามารถทำสิ่งที่จำเป็นต่อโลกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

มาถึงตรงนี้เราคงทราบแล้วว่า เราควรทำงานอย่างไร เพื่ออะไร ดังนั้น ไม่ว่าเรากำลังประกอบอาชีพอะไร ก็ลองนำหลักเหล่านี้ไปปรับใช้ ขอเพียง เราได้ ทำในสิ่งที่เราถนัด และทำหน้าที่ของเราเท่าที่เราจะทำได้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สุข ความดีงามของตนและสังคม เท่านี้ คำถามที่ว่า”นี่เรากำลังทำอะไรอยู่”ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ ”ไม่จำเป็น”อีกต่อไป

ขอบคุณอาจารย์ประเทือง ที่เอื้อเฝื้อข้อมูล ชาวshaker ครับ

Monday, September 08, 2008

หวานชัววัน



บ่ายแก่ๆของเย็นวันนั้น อากาศกำลังพอดีๆ แสงแดดเอียงเอนลอดผ่านแมกไม้ ลมเพลินชักชวนใบไม้แห้งให้ผละกิ่ง ร่วงโรยเป็นระยะๆ
ฉันกำลังเดินไปสู่หอสวดมนต์ วันนี้เป็นวันที่ปลอดโปร่งจึงไปก่อนเวลาสักหน่อย เผื่อเวลาในการเดินเปลือยเท้า จงกรมบนพื้นหญ้า สัมผัสแผ่นดินแม่ที่ทำให้เราได้ยืน เดินมาจนโตขนาดนี้ อันที่จริงเราเกิดบนโลกแต่หาเวลาได้สัมผัสโลกกันจริงๆน้อยเหลือเกิน ทางเดินเลาะเลียบไปตามหมู่ไม้ ผิวพื้นทางเดินถูกประพรมไปด้วยสีขาวนวลประไพของดอกปีบ ที่ร่วงอยู่เป็นประจำ แต่วันนี้ฉันรู้สึกว่าเธอร่วงลงมามากกว่าทุกๆวัน หรือว่าวันนี้เรามีเวลาเหลือเฟือที่จะแลเห็นเธอกว่าทุกวันก็ไม่ทราบได้ นอกจากนั้นเจ้าปีบยังโชย กลิ่นหอมเย็นแบบไทยๆ อบอวลไปทั่วบริเวณทีเดียว มิวายทำให้กลิ่นดอกแก้วที่เคยเป็นพระเอก ต้องสวมบทพระรองไปในทันที

ฉันหยุดยืนพินิจดูเป็นพิเศษ เหมือนมองหาเพื่อเกลอในกองดอกไม้ บางดอกตกลงมานอนอยู่เดี่ยวๆ บางดอกโดดร่มลงมากันเป็นก๊ก แต่ดูนั่นซิ ที่ข้างๆเท้าของฉันเอง มีดอกปีปคู่หนึ่งที่วางกาย แอบอิงพาดพิงกันราวกับคู่รัก
“หวานชั่ววัน” วลีนี้ผุดขึ้นในใจ

ชีวิตของคนเราหนึ่งๆนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว บางวันผ่านไปช้า บางคราผ่านไปเร็ว แต่ที่แน่นนอนก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง ดุจแม่น้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราหลับหรือตื่น แม่น้ำก็คงทำงานต่อไป เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดำเนินชีวิต สุดแท้แต่คลองธรรมของแต่ละผู้
เป็นปกติของมนุษย์ที่เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมยินดีต่อการมีความรัก มีคนรัก เพื่อนใจ คู่ครอง คู่ชีวิต
การมีความรักทำให้ทุกสิ่งสดชื่นเบิกบาน ดูคล่องแคล่วร่าเริง ปลอดโปร่ง นำมาซึ่งความสุข
แต่ฉไนเล่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์
นั่นเพราะความรักมักเกิดจากความต้องการของตัวเราเป็นใหญ่ เราอยากมีความรัก มากกว่าที่จะให้ความรักกัน หากความรักของคู่ไหนปราศจากความตระหนักรู้และเข้าใจความจริง ดำเนินไปด้วยปัญญา ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ ความเศร้าโศกพิรี้พิไรรำพันในภายหลัง ดอกไม้สีสดสวยกลิ่นละมุน เด็ดมาดอม ประคองประดับไว้เชยชม วันแรกก็หอมดีแต่นานไปกลับเหี่ยวเฉา ไม่มีใครอยากถือหรือแม้จะชายตามอง มีพุทธภาษิตตรัสว่า
“อย่าติดในสิ่งที่เรารักหรือไม่รัก
การพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเป็นทุกข์
การพบเห็นแต่สิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ไม่ควรรักสิ่งใด เพราะพลัดพรากจากของรัก เป็นทุกข์
ผู้ที่หมดจากความรักและไม่รักแล้ว
เครื่องผูกพัน ก็พลอยหมดไปด้วย”

ความรักและเมตตาเป็นสิ่งประเสริฐ ถ้าเราไม่ยึดติด และแยกห่างจากภาวะแห่งผู้รักและผู้ถูกรัก แต่หากเผลอไป ความทุกข์ร้อนก็จะตามติดเป็นเงา ส่วนความรักที่บ่มเพาะจากความเข้าใจ ความจริงใจ ความรักจากการให้อย่างไม่มีข้อแม้ บนครรลองแห่งความจริงของชีวิตต่างหาก ที่จะสร้างความงดงามให้แก่กันและกัน ดั่งดอกไม้งามที่ติดต้น ดอมดมมองดู แต่ไม่เด็ดมายึดมาถือ หมั่นรดน้ำใส่ปุ๋ย จะงามก็ดี เหี่ยวเฉาก็ดี นั่งมองสบายเพราะรู้แน่แก่ใจว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง
เรื่องของความรักนี้พอจะมีตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟังบ้าง
1 นกุลมารดาและนกุลบิดา คือคู่อุบาสกอุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล ตัวอย่างของความรักที่ยั่งยืนยาวนาน ทั้งคู่เป็นคู่รักกันมาหลายชาติ ในจำนวนนั้นมีหลายร้อยชาติที่ได้เกิดเป็นบิดาและมารดาของพระโพธิสัตว์ ทั้งคู่แต่งงานอยู่กินตั้งแต่หนุ่มแต่สาวตามประเพณีของชาวชมพูทวีปสมัยนั้น นับแต่ครานั้นล่วงผ่านมาจนถึงวัยชราก็ไม่เคยมีสักครั้งที่ทั้งสองจะคิดนอกใจกัน วันหนึ่งทั้งสองได้มาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ เภสกฬามฤคทายวัน ป่าใกล้บ้านสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ กราบทูลถึงความซื่อสัตว์ในความรักที่มีให้กันตลอดมา และปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมกันทั้งชีวิตที่เหลืออยู่นี้และในภายภาคหน้าทุกชาติไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรคฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสอง หวังจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบันทั้งในภพหน้าแล้ว ทั้งสองเทียวพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะ(ทาน)เสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในภพนี้และภพหน้า
ภาษิตนี้คือ ธรรมะ(สมชีวิธรรม ๔)ที่จะทำให้ชีวิตคู่ ชีวิตรัก สมดุลและกลมกลืน อยู่ครองรักกันยาวนาน คู่รักควรที่จะมีความเชื่อความศรัทธาในสิ่งที่คล้ายหรือเหมือนๆกันและในระดับเสมอกัน ไม่ควรศรัทธาในสิ่งที่ขัดแย้ง เพราะจะนำมาซึ่งการไม่เข้าใจกัน มีศีลพอๆกัน ถ้าคู่รักต่างมีศีล๕ หรือข้อฝึกสติทั้ง๕ ที่สมบูรณ์สม่ำเสมอย่อมไร้ซึ่งการเบียดเบียนกัน มีแต่ความเกื้อกูลกันและกัน เจรจาด้วยเมตตาจิต คู่รักคู่ใดร่วมมือกันสั่งสมความดีด้วยการให้ทานเพื่อขัดเกลาจิตใจ ขัดเอาความโลภ ความตระหนี่ให้เบาบาง เพิ่มพื้นที่ให้ความเบิกบานใจ ย่อมทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างสวัสดี และสุดท้ายไขประตูใจ เปิดโอกาสให้แสดงความรักแก่คนรอบข้างร่วมกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันด้วยปัญญา ด้วยความตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งและแท้จริง จับมือกันทำความเข้าใจชีวิต เริ่มจากตัวเอง สู่คนรัก เผื่อแผ่ไปให้คนรอบข้างตลอดจนสรรพชีวิตในธรรมชาติ อันจะนำมาซึ่งความงดงาม ผาสุกตลอดไป หากคู่ไหนมีชีวิตคู่ที่สมดุลเช่นนี้ย่อมทำให้ความรักของเขาราบรื่น ไม่เพียงแค่ชีวิตนี้เท่านั้น แต่ทุกภพทุกชาติไป เฉกเช่นเดียวกับ นกุลบิดาและนกุลมารดาที่นำคำสอนนี้ไปใช้ตราบชั่วชีวิต ภายหลัง ทั้งคู่ก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน และนอกจากนั้นพระพุทธเจ้าทรงยกย่องทั้งสอง ให้เป็นผู้เป็นเลิศกว่าอุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายในด้านเป็นผู้มีความสนิทคุ้นเคยกับพระองค์อีกด้วย
ถ้ามีปัญญา ความรักก็นำมาซึ่งความสุขได้
อาหารและน้ำทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ ฉันใด ความรักความเมตตา ก็หล่อเลี้ยงให้โลกดำรงอยู่ต่อไปได้ ฉันนั้น เราควรใช้ความรักที่มี แปลงเป็นพลังบริสุทธิ์ เพื่อความสุขของคนที่เรารัก เพื่อความสุขของผู้อื่นรวมทั้งสังคมและแม้กระทั่งคนที่เราไม่ชอบเลยก็ตาม เราก็ควรจะมอบความรักแก่เขาด้วย รักในการให้อภัย รักที่เราต่างก็เกิดมาร่วมโลกเดียวกัน ถ้าทำได้อย่างนี้จิตใจเราย่อมแผ่กว้างมหาศาล ไกลออกไปอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว เราจะไม่มีวันอ้างว้าง ว้าเหว่ เหงาใจ ไขว่คว้าหาใครคนนั้น ใครสักคนที่ยังไม่สักที เพราะเราสามารถจะรักทุกๆคน ทุกๆสิ่ง ทุกๆที่ เรารักที่จะให้ความรัก ไม่ได้รักเพราะอยากได้ความรัก เมื่อได้สัมผัสกับความรักอย่างที่ว่านี้เราจะพบว่าโลกใบนี้ช่างแสนกว้างใหญ่ เราซึ่งเป็นเพียงคนตัวเล็กจิ๋วนี่ล่ะ แต่สามารถโอบกอดรอบรัดโลกใบนี้ไว้แนบสนิทใจ อย่างเบิกบาน เพราะอะไรละหรือ ก็ความรักที่หมั่นรดน้ำใส่ปุ๋ยอยู่ทุกวี่ทุกวันนี่ไงล่ะ

“หวานชั่ววัน”
อีกไม่นานคู่ดอกปีบนี้ก็ต้องเหี่ยวเฉาไป แต่เธอยังผ่องใสหมดจด เธอคงเข้าใจแล้วซิว่า ชีวิตรักแสนสั้นแต่ความรักนั้นนิรันดร์ ส่วนฉันเล่า ก็ยังต้องพยายามต่อไป
ฉันนั่งยองเมียงมองเจ้าปีบคู่แล้วก็คิดไปไกล เสียงระฆังแว่วมาสะกิดเตือนเวลา ดอกไม้ ใบไม้ อีกหลายดอกหลายใบยังคงร่วงมาไม่ขาดสาย และคงจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานเทียว ฉันผลุดลุกขึ้นยืน แดดคล้อยแล้ว แต่กลิ่นหอมยังกรุ่นในจิตใจ คงเป็นผลของความงามจากพลังของความรักที่แสนดี ปีบเอ๋ยพรุ่งนี้เราคงไม่พบกันอีก ขอบคุณเจ้าดอกปีบทั้งสองที่สอนฉัน แม้จะเป็นเวลาน้อยนิดที่เธอและฉันได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ได้หวานเพียงชั่ววันแต่ก็เป็นเวลาที่มีค่าสำหรับคนอย่างฉันจริงๆ

........................................................
1 พระไตรปิฏก,พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓ อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต,หน้าที่ ๖๑

Sunday, September 07, 2008

นั่งลงให้ลมพัด
ระเบียงน้อย ต้อยติ่ง กระดังงา
รูปถ่ายบอกห้วงเวลา
ที่ผ่านมา
ไม่เคยลืมเลือน


ฉันรู้แล้ว มีเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ฉันสดใส
ไม่กลัวไม่หวั่นไหว คือสายใย
ที่มีระหว่างกัน

วันคืนที่เคลื่อนคล้อย
เวลาก็เหลือน้อยลงทุกที
เปลี่ยนแปลงทุกวินาที
ทุกลมหายใจ
ทุกหลับและลืมตา

โอ้ชีวิต ไม่มีสิ่งใดวกเวียนกลับมาเลย
ทุกสิ่งดั่งธารใส ที่ไหลไป
จากภูเขาสู่ทะเล

ใบหน้าเปื้อนยิ้ม พอใจทุกสิ่ง พอแล้วจริงๆ
ผ่อนกายให้พัก ปล่อยโลกหมุนไป หัวใจได้โบยบิน
เธอคือชีวิต เธอทุกสิ่ง พอแล้วจริงๆ
อิ่มด้วยไอรัก เมื่อคิดถึงเธอ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน

ชีวิตที่เหลือ นี้ ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว
เพียงใช้เวลา ที่มี ทบทวนทุกสิ่งที่พ้นไป
ปล่อยวางชีวิต และคิดถึงเธอไว้ หัวใจช่างเปี่ยมความหมาย

ไม่หวังว่าจะ ต้องมี ต้องเป็นอะไรอีกแล้ว
วันนี้ฉันได้สัมผัสกับความอบอุ่นจากข้างใน
กับสิ่งที่เธอรัก และทำอยู่ตอนนี้ ฉันแสนภูมิใจ
แค่รู้ว่าเธอได้ทำดี
เท่านี้ก็เป็นสุขใจ

แค่รู้ว่าลูกเป็นคนดี
แค่นี้ก็เป็นสุขใจ

Tuesday, August 26, 2008

transformation


transformation
Originally uploaded by thitipong

Thursday, August 07, 2008

ชบากับดอกบัว


ชบา บัว
Originally uploaded by thitipong

Shambhala chapter1




บทที่ ๑
สร้างสังคมอริยะ
ซัมบาลา ดินแดนเล่าขาน อาณาแห่งสันติสุขเปี่ยมวัฒนธรรม มีผู้ปกครองอันทรงสติปัญญาแลการุณย์ ประชาราษฎร์เปี่ยมด้วยความรอบรู้และเมตตา
ซัมบาลา เมืองอริยามรรคาในอุดมคติ สถาปนาโดยธรรมะจากศากยมุนีพุทธเจ้า สู่ปฐมกษัตริย์ดาวะ สังโป ผู้เลื่อมใส ไม่เพียงแต่ผู้นำเท่านั้น อาณาประชาราษฎร์ล้วนปฏิบัติภาวนา เมืองทั้งเมืองขวักไขว่ด้วยอริยชนผู้ตื่นรู้
ระยะเวลายาวนาน ที่กงล้อธรรมตันตระชั้นสูงถูกหมุน เป็น ”กาลจักรตันตระ” ปรีชาญาณลึกซึ้งของชนชาวธิเบต สืบเนื่องจนปัจจับัน
ชาวธิเบตบ้างว่าซัมบาลาคือดินแดนลี้ลับที่แฝงเร้นอยู่ในหุบเขาแถบเทือกเขาหิมาลัย บ้างว่าทั้งราชอาณาจักรได้เข้าถึงภาวะตรัสรู้ดับสลายไปจุติยังมิติอื่น โดยมีกษัตริย์ริกเดนผู้ยิ่งใหญ่ เฝ้าดูมวลมนุษย์ชาติเพื่อรอเวลาลงมาช่วยผู้คนจากหายนะ นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่ามีแต่อีกหลายคนกล่าวว่าเป็นเรื่องเล่าขานตำนานเพ้อฝัน อย่างไรก็ตาม เราอาจมองเห็นเค้ารอยของความปรารถนาอันงดงามและสูงส่งแห่งสังคมอริยะ คุรุธิเบตมีประเพณีซึ่งถือว่า”ซัมบาลา” ไม่ใช่ดินแดนที่ดำรงอยู่ภายนอกหากแต่สถิตย์อยู่ภายใน เป็นรากฐานแห่งการหยั่งรู้และเข้าใจของมวลมนุษย์ทุกผู้ จึงไม่ใช่สิ่งสำคัญว่าซัมบาลาจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงนิทานคำสอน หากแต่ควรมองให้เห็นถึงคุณค่าอันลึกซึ้งและดำเนินตามอุดมคิแห่งอริยะที่แสดงนัยอยู่
“คำสอนซัมบาล” หรือเรียกอีกอย่างว่า ” ญาณทัศนะซัมบาลา ” คือ อาณาจักรอุดมคติที่ปราศจากลัทธิ นิกายตามแนวทางศาสนาใดชัดเจน ดำรงตนอิสระแต่ยืนอยู่บนหลักคิดและวัฒนธรรมอันนุ่มนวลแบบพุทธ มุ่งสู่การขัดเกลามนุษย์สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แท้ ผ่านความเรียบง่ายไร้ลัทธิเพื่อสามารถนำมาปฏิบัติและแบ่งปันกับผู้อื่นท่ามกลางความหนักหน่วงของสังคมปัจจุบัน
ปรีชาญาณเหล่านี้ไม่ได้สืบทอดมาจากที่ใด ทว่าคือวัฒนธรรมนักรบเก่าแก่ที่สืบทอดในมาในทุกวัฒนธรรมที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ อาทิ ในชาวอเมริกันอินเดียน ซามูไร กษัตริย์อาเธอร์ ฯลฯ ความเป็นนักรบสากลที่ไม่ใช่ความก้าวร้าว แต่คือความหมายของนักรบในภาษาธิเบต นั่นคือ “ผู้กล้า” กล้าในทุกๆสิ่ง หรืออาจกล่าวว่าไม่กลัวในสิ่งใดๆแม้กระทั่งตัวเอง!
”ญาณทัสนะซัมบาลา คือ สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว
เมื่อเราเริ่มกลัวตัวเองและภัยคุกคามของโลกปัจจุบัน
เมื่อนั้นเราก็กลับเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ เราปรารถนาจะสร้างรังเล็กๆของตนขึ้น
สร้างเปลือกขึ้นห่อหุ้มตัวเอง เพื่อว่าเราจะได้อยู่เพียงลำพัง อย่างปลอกภัยในนั้น”
ถ้าเรากลัวแล้วใครจะกล้า โลกต้องการความช่วยเหลือและบอบช้ำเต็มที ภารกิจของสังคมคือหน้าที่ของทุกคนแต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ทอดทิ้งภารกิจ ความรับผิดชอบของตัวเอง ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เริ่มที่การค้นพบควมจริงแท้ในตัวเรา แล้วพินิจว่ามีสิ่งใดบ้างที่เราสามารถมอบให้โลก เพื่อยกระดับชีวิตของตนและคนรอบข้างได้บ้าง
การค้นพบความดีงามคือการเปิดใจตระหนักรู้ถึงประสบกรณ์ที่ปรากฏอย่างจริงจังจริงใจ ตรงไปตรงมา แม้สิ่งที่แสนสามัญ เช่น แสงอาทิตย์ยามเช้าที่ทำให้เรากระปรี้กระเปร่า สีสันสดใจที่ทำให้ใจเราแช่มชื่นเบิกบาน สิ่งเหล่านี้เข้มข้นชัดเจนละเอียดอ่อนและล้นเหลือ หน้าที่ของเราคือหยิบฉวยชั่วขณะเวลาเหล่านั้น ด้วยว่ามันได้แสดงออกถึงรากฐานแห่งอหิงสาและความสดใหม่ในชีวิต รากฐานแห่งความดีงามที่อยู่ในตัวเรา
“เราสามารถเยียวยาตนเองจากควมรู้สึกกดดันต่างๆถ้าเราตระหนักว่าโลกของเรานี้ดีงาม”
ญาณทัสนะซัมบาลามุ่งผสานกับศักยภาพของปัญญา และความสง่างามในตัวเราเพื่อปลุกเราให้ตื่นขึ้นและรับรู้ ความจริงที่เที่ยงตรงและดีงามที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สิ่งสำคัญคือการค้นพบความสมดุลของการสัมผัสความดีงมเหล่านั้น การสัมผัสอย่างแผ่วเบา หรือเรียกอีกอย่างว่าการมีอารมณ์ขัน(ไม่ใช่ความหมายที่เข้าใจกัน)ที่ไม่ผิดพลาดไปด้วยอำนาจแห่งความอยากเสพสิ่งที่ดีงามหรืออยากจะเข้าถึงความดีงาม ความจริงคือการน้อมตัวตนลงมาเพื่อสัมผัสรู้สิ่งสามัญที่สุดในชีวิต เพื่อเชื่อมโยงเราไว้กับเหตุการณ์ต่าง เช่น ช้อนส้อม ผ้าเช็ดตัว หรือเครื่องซักผ้า การกิน การหวีผมหรือการแต่งตัว สิ่งเหลานี้เมื่อเราเฝ้าดู เราจะพบอารมณ์ขัน ศักดิ์ศรีและความจริง เป็นชีวิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
“ญาณทัสนะซัมบาลานั้น คือความพยายามที่จะกระตุ้นคุณให้ประจักษ์ว่าคุณมีชีวตอยู่อย่างไร มีความสัมพันธ์กับชีวิตสามัญอย่างไร”
เรามิใช่ทาสของชีวิต เราเป็นอิสระ มีร่างกายและจิตใจ อิสระเพื่อสอดรับกับความจริงอันสง่างามรอบข้าง อย่างมีอารมณ์ขัน รับรู้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในจักรวาล ในธรรมชาติ ป่าเขา หิมะ หรือแม้กระทั่งโคลนตม
เมื่อเราสัมผัสได้ถึงความดีงามแห่งสรรพสิ่ง เราจะสัมผัสถึงปัญญาและความสามารถในตัวของเรา เราพบว่าโลกไม่ใช่ศัตรูของเรา การดำเนินชีวิตไปตามคลองธรรม ทำให้เราไม่ต้องหลอกผู้อื่นและตัวเอง เราอาจมองเห็นว่าชีวิตนี้แสนสั้นโดยไม่รู้สึกผิดหรือไร้ค่า เราแบ่งปันความดีงามร่วมกับผู้อื่น ตรงไปตรงมาและเปิดเผยยิ่ง เป็นอยู่อย่างเบาสบายแต่มั่นคง
“แก่นแท้ของความเป็นนักรบหรือแก่นแท้ของความกล้าหาญของมนุษย์นั้น
ย่อมไม่ยอมสยบต่อสิ่งใดทั้งสิ้น เราไม่มีวันพูดว่าเรากำลังจะแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ
เราไม่อาจพูดได้ว่าคนอื่นจะต้องเป็นเช่นนั้นและโลกด้วยเช่นกัน
ชั่วชีวิตของเราอาจมีปัญหาอันหนักหน่วงมากมายในโลก
แต่ขอให้เรามั่นใจว่า ชั่วชีวิตนี้จะไม่มีความหายนะใดๆอุบัติขึ้น
เราอาจป้องกันได้ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรา อย่างน้อยที่สุดเราอาจช่วยโลกให้รอดจากหายนะ
ญาณทัสนะซัมบาลามีอยู่เพื่อสิ่งนี้ เป็นอุดมคติเก่าแก่ที่มีมานานนับศตวรรษ
นั่นคือการรับใช้โลกนี้ เราอาจช่วยให้มันรอดแต่การช่วยให้รอดก็ยังไม่เพียงพอ
เรายังต้องกระทำการเพื่อสร้างสังคมมนุษย์ที่เป็นอริยะขึ้นมาด้วย”
หนังสือนี้กล่าวถึงรากฐานแห่งสังคมอริยะและหนทางนำไปสู่ ในวิถีนักรบของซัมบาลา ไม่มุ่งเน้นการขบคิดปัญหาทางทฤษฎีหรือการคาดเดาต่างๆ แต่มีเนื้อหาที่เกื้อกูลให้เกิดการค้นพบความหมายและบรรลุถึงความเป็นอริยของตนและสังคมด้วยผู้อ่านเอง
”ถ้าเราปรารถนาจะช่วยโลกให้รอด เราจะต้องก้าวเดินไปด้วยตัวเอง”

Monday, August 04, 2008

on the door


on the door
Originally uploaded by thitipong
Let's left the doors of the heart wide open.

swan


swan
Originally uploaded by thitipong

ถาม ตอบ ศิลปธรรม




คำถามที่ดี
เมื่อวานนี้เอง ฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนที่แสนดีคนหนึ่ง เราต่างไม่ได้แลกเปลี่ยนกันมาเป็นระยะเวลานาน ฉันรู้สึกดีใจตามปกติ ที่คนเราจะอบอุ่นเสมอเมื่อได้รับรู้ว่าเรามีเพื่อนอยู่ตรงนั้นและเราได้ใช้เวลาสั้นๆร่วมกัน แม้จะผ่านทางโทรศัพท์มือถือก็ตาม
เพื่อนฉันเป็นนักดนตรีแล้วกำลังมีคำถามคาใจว่า
“เขานั้นกำลังทำอะไรอยู่”
“สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือ เป็นสิ่งที่ทำให้คนมากมายลุ่มหลงมัวเมา”
“คนเขานิ่งอยู่ดีๆไปทำให้ใจเขาสั่น”
.....
คิดถึงบ้าน
ฉันมีความยินดียิ่งที่ได้ฟังคำถามที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต คำถามเกี่ยวกับจิตใจ เพราะนั่นแสดงว่าผู้ที่มีคำถามย่อมได้ใช้เวลาครุ่นคิดเกี่ยวความสงสัยต่างๆในชีวิต เขาอาจได้อ่านหนังสือ สนทนาในหัวข้อนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ฉันเองก็เป็นเช่นกัน ฉันยินดีมิใช่ว่าฉันสามารถตอบคำถามและแสดงตัวว่าฉันตอบได้ ฉันรู้มากกว่าเธอ เปล่าเลย ฉันก็สงสัยเหมือนกันเราต่างก็มีความสงสัยเหล่านี้อยู่ในหัวใจทุกคน เพียงแต่ว่าแรงขับภายใน มันได้ถึงจุดที่ต้องการคำตอบนั้นแล้วหรือยัง เราต่างพลัดพรากจากบ้านและต้องการความอบอุ่น บ้านเกิดคือจิตใจ จิตใจเดิมแท้นั้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง เมื่อเราเติบโตในหนทางที่ถูกต้องเราย่อมต้องการจิตใจดั้งเดิม บ้านดั่งเดิม เตียงนอน ผ้าห่ม หรือข้าวไข่เจียวจากคุณแม่
นานหลายปีมาแล้วที่สังคมของเราได้พรากเราจากบ้านของเรา เรามักเที่ยวเตร็ดเตร่ออกไปตามที่ต่างๆ ตลอดเวลา เราทำงานห้าวันถึงเจ็ดวัน ช่วงเวลาว่างเราจะฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนัง คุยกับเพื่อน แท้จริงเราไม่ได้พักผ่อนเลย จิตใจไม่ได้หยุดนิ่ง แม้นั่งนิ่งๆได้เราก็จะลอยออกไปกับเรื่องที่แล้วมาหรือเรื่องข้างหน้าที่จะเป็นไป เราแทบไม่ได้มีชีวิต
ปัจเจกนิยมได้เข้ามาแล้วและเริ่มออกอาการแกว่งแล้ว การแสวงหาความเป็นส่วนตัว ความเป็นตัวของตัวเอง การแสดงออกถึงอะไรบางอย่าง ตัวตน ความฝัน ความทะเยอทะยาน ที่ไร้ขอบเขต การขาดการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและสังคมที่ขาดวิ่น เดิมทีเราพรากจากบ้านด้วยความคิดถึง แต่มันเป็นเรื่องเลวร้ายทีเดียวถ้าเราจะไม่มีแม้ความคิดถึง เยื่อใยในบ้านเดิมของเรา เราอาจจะเห็นตัวอย่างง่ายๆ จากวิวัฒนาการของเพลงไทย ความหมายมันได้เปลี่ยนไปตามเวลา จากความชื่นชมในค้างคาวกินกล้วย ธรรมชาตินานา สู่ความเหงาโดดเดี่ยวอ้างว้าง ฉันยังจำได้ถึงเพลงของพี่เบิร์ดธงชัยสมัยก่อน ที่แตกต่างจากตอนนี้เหลือเกิน เราใช้ชีวิตปลีกออกไปจากสังคมทุกที ชุมชนเริ่มสลายไปทีละน้อยๆ เราแทบไม่จำเป็นที่จะต้องมีเพื่อนบ้านหรืออย่างน้อยถ้าไม่มีซะเลยจะดีกว่า
มีหลายคนที่ไม่ชอบสังคม ไม่ชอบชีวิตแบบนี้ แล้วปิดประตูต้านไปอีกด้านหนึ่ง ทัศนะคติที่ไม่ดีต่างๆพลั่งพรูออกมาจากความหม่นหมองในจิตใจ ความคิดเหล่านี้เป็นอคติที่ว่าถ้าไม่ใช่เพื่อนกันก็ต้องเป็นศัตรูกันอย่างใดอย่างนั้น เขาอาจละทิ้งทุกสิ่งแล้วเข้าป่าแสวงหาตัวตน ก่นด่าสังคมและคนที่หลงไหลในวัตถุ แต่นั่นเองถ้าไม่อยู่บนฐานความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าเขาไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่จะกลับสู่บ้านของเขา เขาก็เพียงแต่เร่ร่อนไปอีกที่หนึ่งเท่านั้น เขาจะสถิตอยู่ในที่ๆชอบใจ และเป็นตัวของเขา โอบอุ้มพพลังของตัวไว้แล้วสร้างกรอบป้องกันตนจากคนเห็นต่าง แล้วจะต่างอะไรกับปัจจเจกนิยม นี่เป็นปัจเจกนิยมที่ต่างความคิดเท่านั้นเอง
หนทางที่แท้ฉันเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องกระวีกระวาดกระตือรือล้นมากจนเกินไป เมื่อเราเกิดความสงสัยเหล่านั้น เพียงเราให้เวลากับการมีชีวิต ให้โอกาสตัวเองได้มีชีวิตอย่างแท้จริง เรามีสติ มองให้เห็นจิตใจของเรา เราจะค่อยๆเข้าใจและเรียนรู้
มองเรา
เธอคือนักดนตรีและฉันก็ชอบดนตรี ดนตรีช่วยให้เกิดความสุข กล่อมจิตใจ บางครั้งการฟังเพลงก็สามารถทำให้เราคิดอะไรดีๆออก ทำให้เราลืมเรื่องที่ทุกข์ มีความสุข อาจใช้ดนตรีเป็นเพื่อน เป็นกำลังใจ บางคนใช้ดนตรีทำสมาธิ ดนตรีมีข้อดีอยู่มาก แต่ดนตรีที่ดีต้องอยู่บนพื้นฐานของความดีงาม ความรักเมตตา ความจริงใจและสันติ ที่ออกจากผู้ประพันธ์ เพื่อยกระดับจิตใจของผู้ฟัง ฉุดดึงเขาขึ้นมาเมื่อเขาล้ม และทำให้เขายืนหยัดได้มั่นคงเมื่อเขาเป็นปกติ ทำให้ผู้ฟังมีความสุขที่ปราณีตยิ่งๆขึ้นไปดนตรีอย่างนี้ถึงจะสมแก่การเรียกได้ว่าศิลปะ และกล่าวนามผู้ขับลำนำนั้นว่า ศิลปิน
ศิลปะคือชีวิต ศิลปะคือธรรม
ศิลปินคือผู้ที่มีความสามารถที่จะเข้าใจ มีความสามารถที่จะเข้าถึงอารมร์ต่างๆ แล้วแสดงออกมาด้วยวิธีการ เทคนิกวิธีต่างๆ ตามแต่ความถนัดและสนใจ ผู้ที่จะทำงานศิลปะจึงต้องมีความจริงใจอย่างที่สุด เพราะผลงานเหล่านั้นกลั่นออกมาจากจิตใจ งานศิลปะก็คือตัวศิลปินเองทั้งหมด ควมลึกล้ำของงานก็คือความลึกล้ำของผู้สร้างสรรค์ ถ้าโกหกตัวเองเสียแล้ว งานชิ้นนั้นย่อมไร้ค่า ไร้ความหมาย ตื้นเขิน ความเป็นตัวของตัวเองทีถูกถ่ายทอดคือภาพฉายชีวิตและความนึกคิดของศิลปินและสังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ หากเราได้ยกเอาสิ่งต่างๆที่หมักหมมอยู่ในความคิด หรือที่ติดอยู่ตามร่างกายของเราออก เราก็จะเข้าถึงความจริงของตัวเรามากขึ้น เราไม่พึ่งพาสิ่งอื่นในการที่จะรู้จักตัวเอง เราคงไม่ต้องโทรศัพท์หาตัวเอง หรือถามหมอดูว่าเราเป็นใคร ตัวอย่างศิลปะที่เกิดจากกรค้นพบตัวเองอย่างจริงใจ ที่เห็นได้ชัดคือศิลปะเซน
เพราะแท้จริงการปฏิบัติธรรมต้องมีศิลปะ ต้องมีความกล้าหาญที่จะเอาชนะความกลัวในทุกสิ่ง แม้กระทั่งกลัวตัวเอง ต้องใช้ความจริงใจอย่างยิ่งยวดที่จะเข้าใจความเป็นจริงที่ปรากฏ เข้าถึงตัวตน เพราะบางครั้งความจริงไม่เป็นไปดั่งหวัง หรือแม้เป็นดั่งหวังตั้งใจก็ไม่ดำรงอยู่นาน ซ้ำเรามักจะต้องการให้มันคงนิรันดร แต่เราทำได้แค่เพียงยอมรับและเบิกบานด้วยความเข้าใจอันถ่องแท้หาใช่การโกหกหรือบ่ายเบี่ยงไม่ เมื่อเรายินดีที่จะพบตัวตน เราก็อยู่ในวิถีละตัวตนแล้วนั่นเอง
เมื่อเรากลับถึงบ้านแล้ว ไม่มีความคิดถึง ห่วงกังวลอีก
ศิลปะและการเยียวยา
ดังนั้นจะไม่เป็นการดีหรือที่เราจะสามารถใช้ศิลปะเหล่านั้นในการนำพาเราไปสู่บ้านของเรา ซึ่งแท้จริงก็อยู่ในจิตในใจของเราเอง เราสามารถพัฒนางานศิลปะไปพร้อมๆกับการเข้าใจความจริงด้วยความจริงใจ ทุกครั้งที่เราทำสิ่งที่เรารักหรือชอบ เพราะเราพอใจที่จะทำหรือเห็นประโยชน์คือผลที่ดีอันจะตามมาเราย่อมมีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีสมาธิ เรากำลังภาวนาโดยไม่รู้ตัว บางครั้งเราแนบแน่นอยู่กับงานนั้นได้เป็นชั่วโมงๆ โดยไม่ต้องกินข้าว ไม่มีความเหน็ดเหนื่อย เราอาจจะนั่งใต้ต้นไม้แล้วปล่อยใจให้ความเข้าใจกลายเป็นโน๊ตดนตรี เพื่อถ่ายทอดจากดนตรีสู่ผู้ฟัง หวังให้เขาเหล่านั้นมีความสุข

สะพานเชื่อมใจ
เราคงจะเคยเห็น หรือประสบมาแล้วว่าที่ใดมีศิลปะ ดนตรี กวี คำกลอน ที่เหล่านั้นมักเป็นที่สนใจของผู้คน มีพลังบางอย่างที่เป็นสื่อกลางให้สารที่สื่ออกจากศิลปินเข้าถึงผู้รับได้อย่างดีและมีมนต์ขลัง สะกดจิตใจให้คล้อยตามได้ดียิ่ง ดังนั้นศิลปะที่ไม่ดีย่อมอันตรายต่อผู้ที่เสพสิ่งเหล่านั้นเขาสู่ธารใจ โดยไม่รู้ว่านั้นคือยาพิษอันเลิศรส ลูกอมที่ทำให้ฟันผุ แต่เมื่อใดที่จิตใจงาม จิตใจสูง ความหวังดี เมตตา การให้ อิสรภาพและปรีชาญาณต่างๆได้หยั่งรากในศิลปิน และออกดอกผลเป็นงานศิลปะแล้ว ผลไม้นั้นย่อมควรแก่การรับประทานเพื่อเป็นกำลังจิตกำลังใจที่จะร่วมสู้ชีวิตกันต่อไป ดับความหิวกระหาย ผ่อนคลายความทุกข์ เกิดความปลอดโปร่ง การตระหนักรู้ เป็นพื้นฐานให้จิตใจงาม จิตใจสูง ความหวังดี เมตตา การให้ อิสรภาพและปรีชาญาณ ได้เติบโตในใจผู้รับสารนั้นอีกทอดหนึ่ง
ศิลปินคือผู้ปลดปล่อย
ศิลปินคือผู้ที่จะเลือกทางเดินของเอง เขาเองก็เปรียบเหมือนผู้ถือกุญแจ ซึ่งมีอยู่หลายดอก ขึ้นอยู่กับเขาเองว่าจะเป็นผู้ไขกุญแจแห่งการปลดปล่อย ปลิดโซ่ตรวนแห่งจิตใจผู้คน ไปสู่ความสุข ความเบิกบานชุ่มชื่นใจ ความสุขุม สงบ สันติภาพ สังคมอุดมคติอันงดงาม ความจริงความถูกต้อง สัจจะหรือแม้กระทั่งความว่าง หรือเลือกที่จะไขปิดด้วยกุญแจแห่งความโศก ความแค่นแข็ง กระด้าง ลุ่มหลง ความโลภ กามราคะ ความหลงผิด
และเมื่อเขาเลือกที่จะไขด้วยกุญแจใด เขาย่อมเป็นกุญแจนั้น
การค้นพบที่แท้ในจิตใจผ่านงานศิลปะมีให้เห็นมากมาย ยกตัวอย่างที่เห็นทั่วไป เช่น นักดนตรีชื่อดังมากมาย เริ่มต้นชีวิตศิลปินด้วยความเร้าร้อน เพลงที่หยาบกระด้าง รุนแรง ความรักที่เจือด้วยราคะและความฝันกล้า แต่เมื่อถึงช่วงหนึ่งศิลปินคนเดิมกลับทำงานที่แสดงถึงความอ่อนโยน สุขุม ชีวิตที่แท้ สัจจะ ความรักความเมตตากัน และสันติภาพ ดั่งเด็กน้อยที่เติบโตขึ้นตามเวลา ในขณะเดียวกันผู้ฟังและผู้เสพงานต่างก็โตขึ้นไปด้วย
เราลองจินตนาการภาพคุณลุงชรา กำลังนั่งดูหลานแท้ๆเพลิดเพลินกับของเล่นชิ้นโปรด อาจจะเป็นรถคันเล็กๆ หนังยางหรือกระทั่งก้อนดิน เขาเองเคยเป็นเด็ก เขาเองก็ไม่ต่างจากหลานตัวน้อย เขาเข้าใจถึงความรู้สึกสนุกสนานเหล่านั้น เขาเคยร้องไห้เพราะหวงแหนก้อนดินนั้น แต่บัดนี้เขาได้แต่นั่งมองดูด้วยใจสงบ ไม่แล้วเขาไม่ลงไปเล่นดินนั้นอีกแล้ว เขาผ่านมาแล้ว เขารู้แล้วว่ามันเป็นอย่างไร จะเป็นอย่างไร แล้วอะไรที่ดีกว่า”
เมื่อชีวิตได้เข้าใจและตระหนักรู้ สิ่งที่กระทำหรือกรรมย่อมเปลี่ยนแปลงไป คำถามในชีวิตจะถูกไขออกที่ละน้อยๆ ช้าเร็วย่อมแตกต่างแต่ทุกคนย่อมมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คืออิสระภาพที่จะปลดปล่อยเราจากความทุกข์ ความสงสัยที่นอนเนื่อง ตราบที่เรายังคงต้องแสวงหา เพื่อพบตัวตนและลาจากตัวตน
กลับบ้าน
บนถนนสู่บ้านเดิมนั้นมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ หลากอาชีพ เป็นสิ่งที่งดงามเมื่อมีศิลปินร่วมทางเพราะเขาทำให้การเดินทางนั้นมีคุณค่ามากยิ่ง เราอาจจะนั่งพักฟังเธอบรรเลงขลุ่ย ฉันขับกลอนสั้นๆ เราจะร้องเพลงร่วมกันในค่ำคืนแห่งนวลจันทร์ เธออาจสอนฉันเล่นด้วยก็ได้ ส่วนฉันก็อาจมีสิ่งดีๆแลกเปลี่ยนกัน
เพราะเราทุกคนต่างมีวิญญาณแห่งศิลปินด้วยกัน เราเยียวยากันและกันตลอดทาง เราต่างคนต่างถิ่น ทุกๆอาชีพ ทุกๆชีวิตต่างทำสิ่งที่ดีๆได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราไม่กลัวที่จะทำ และเราจะทำไหม...เท่านั้น เส้นทางสู่บ้าน อันยาวไกล ระหว่างทางนี้ไม่ง่ายนัก เราควรเตรียมตัวให้พร้อมเข้าไว้ สำหรับการเดินทาง

“ระหว่างทาง”
“ใช่แล้ว เรากำลังอยู่ระหว่างทาง”
คำตอบที่ดี ก็ทำให้เราสบายใจ




ถามให้น้อย ถึงสิ่งที่ ฉันจะได้
แต่เรื่องให้ คนอื่น เคยถามไหม
ถามไปเถิด ให้ฝังไว้ ในจิตใจ
ทุกคนมี ดีจะให้ อยู่ในตัว
ตอบให้มาก ถึงสิ่งที่ เป็นประโยชน์
สิ่งที่โลก ได้มอบไว้ ให้แก่ฉัน
ตอบให้เห็น แทนที่จะ เรียกร้องกัน
ว่าตัวฉัน คนนี้ ได้อะไร

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ
บทกลอนดัดแปลงจากคำปราศรัยของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)
ในพิธีรับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพประจำปี ๒๕๓๗ ของยูเนสโก กรุงปารีส