คนเราทุกคน ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาก็เร่าร้องเรียกหาสิ่งที่ต้องการจากพ่อแม่ อาทิ นมแม่ ผ้าอ้อม เปล บ้าน ยาแก้ไข้และวัคซีนแก้โรค จัดเป็นหมวดหมู่ว่า ปัจจัย ๔ ต่อเนื่องจากวัยเยาว์มาแล้ว เมื่อเติบใหญ่ดูแลตัวเองได้ ก็ประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงกายเลี้ยงใจด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน แสวงหาสิ่งของจำเป็นจนถึงบำรุงบำเรอตนให้สะดวก สุข สบาย ยิ่งขึ้นตามลำดับ ตามกระแสนิยม อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รถยนต์ เครื่องประดับ อาหารรสเลิศ ฯลฯ จะสังเกตได้ว่า ความอยากมี อยากได้ของเรานั้นไม่มีที่สิ้นสุด เป็นส่วนเกิน เกินกว่าคุณค่าของชีวิตหนึ่งๆที่จะต้องใช้สอย ไม่เพียงวัตถุเท่านั้น แต่สั่งสมซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ เข้าอีกด้วย ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความรกรุงรัง ยิ่งสั่งสม ยิ่งหนัก ยิ่งคับ ยิ่งแคบ ยิ่งทุกข์มาก ยิ่งห่างไกลความสุข
การสั่งสมอีกลักษณะหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่นิยมในสังคมปัจจุบัน แต่เป็นการสั่งสมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ เป็นการสะสมที่ ยิ่งสั่งสมยิ่งเบา ยิ่งโปร่ง ยิ่งโล่ง ไม่มีเกิน ไม่มีขอบเขต ควรขวนขวายเป็นนิจ นำไปความสุขสงบ สันติ และอิสระในชีวิตอย่างหาใดเปรียบ แตกต่างจากการสั่งสมแบบที่กล่าวข้างต้นโดยสิ้นเชิง
การสั่งสมนี้ คือ การสั่งสมบุญ การหมั่นประพฤติปฏิบัติตนให้ดีงาม ตามหลักการของพระพุทธศาสนา รู้จักสั่งสมบุญด้วยการแบ่งปันสิ่งของที่เหลือกินเหลือใช้ การให้นี้ช่วยลดความเห็นแก่ตัว ทำให้มองเห็นคุณค่าของผู้อื่นและมีความสุขในการอยู่ร่วมกันกับสังคม สองคือ รู้จักสั่งสมบุญด้วยการรักษาศีล มีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฏของคนหมู่มาก สร้างบุคลิกภาพที่ดี และพร้อมที่จะพัฒนายิ่งๆขึ้นไป สุดท้ายต้องรู้จักสั่งสมบุญด้วยการภาวนา ฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น เกิดความบริสุทธิ์ผ่องใสจากภายใน มองเห็นทุกสิ่งรอบการได้อย่างแจ่มชัดและวินิจฉัยอย่างแยบคายด้วยปัญญา พัฒนาตนให้เป็นผู้เจริญ นำความไพบูลย์ สมบูรณ์ สุข เกษม มาสู่ตนและสังคม
สรุปความว่า การที่เราจะมีความสุขทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ เกิดมีจากการสั่งสมบุญทั้งสามที่กล่าวไว้ข้างต้นทีละเล็กละน้อย เป็นการมองหาความสุขที่มีอยู่ใกล้ตัว สุขที่จะให้ สุขที่จะดูแลและพัฒนาตนให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์
Thursday, August 23, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment