Thursday, August 23, 2007

จิตตัสสะ ทะมะโถ สาธุ.การฝึกจิตเป็นสิ่งที่ดี

คำสอนทางพุทธศาสนานั้น เน้นหนักในด้านการมองเห็นทุกข์ และเชี่ยวชาญในทางแห่งความสุข ภาวะแห่งการปลดเปลื้องทุกข์และเข้าถึงความสุขที่แท้ ที่ประณีต คือ การเข้าถึงหลักธรรมดาที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งตถาคตได้มองเห็นทางแห่งความจริงแล้วนำมาเผยแพร่ นำมาแสดง จัดตั้ง วางหลัก เปิดเผย แจกแจง สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ดีที่พระพุทธเจ้าท่านทรงวางแนวทางไว้ เพื่อมนุษย์จักได้ดำเนินชีวิตไปตามทางอันประเสริฐนั้น

การเดินทางไปที่ใดก็ตาม เราต้องมีร่างกายที่พร้อมจะเดิน ใจมุ่งมั่นที่จะไป และมีแผนที่แม่นยำสู่เป้าหมาย ไม่ต่างกันกับ การเดินทางไปสู่สิ่งที่ดี ที่ประเสริฐตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งคือการเดินตามหลัก “อัษฎางคิกมรรค” หรือ “มรรคมีองค์ ๘ “ อันประกอบด้วย
1. สัมมาทิฏฐิ
2. สัมมาสังกัปปะ
3. สัมมากัมมันตะ
4. สัมมาวาจา
5. สัมมาอาชีวะ
6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ
8. สัมมาสมาธิ
มรรคมีองค์ ๘ ที่ว่านี้ ก็คือ หลักการฝึกตน ตามสิกขา ๓ โดยจัดหมวดได้เป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา การมีศีลก็คือการทำพื้นฐานให้พร้อมซึ่งโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า การฝึกจิต คือ การทำใจแน่ว มั่นคงสู่เป้าประสงค์ การมีปัญญาก็เพื่อวินิจฉัย ชี้นำทางที่ถูกต้องถึงที่หมาย เมื่อมีสามส่วนนี้ การเดินทางไปที่สู่สิ่งที่ดี ย่อมบังเกิดขึ้น

ในส่วนจิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการนี้ เพราะ กรรมใดจะเกิดขึ้น ย่อมต้องเกิดจากมโนกรรมเป็นขณะแรก หรือ เกิดความต้องการที่จะทำสิ่งใดสิ่งนั้นก่อน จึงลงมือประพฤติปฏิบัติ คิดหาหนทาง เช่น เมื่อเราจะเดินทางเราย่อมเกิดความคิดที่จะเดินก่อน แล้วจึงดูเหตุปัจจัยต่างๆ ถ้าไม่อยากเดิน ก็จบตรงนั้น เมื่อจิตเราน้อมที่จะเดินไปสู่ทางแห่งมรรคแล้ว จิตจะบ่มความต้องการที่จะละอกุศลทั้งหลาย เมื่อมองกลับมาที่ตัวตนจิตก็พยายามกำจัดอกุศลที่คงค้างอยู่ จิตเร้ากุศลให้เกิดพอกพูนในขณะเดียวกันจิตก็เพียรรักษาความดีให้ดำรงตลอดสืบไป

เมื่อเรามีจิตที่แน่วแน่ มั่นคง แจ่มชัดขึ้นและประกอบด้วยกุศล เราย่อมเกิดพลังที่จะทำสิ่งดีๆได้อีกมากมาย เกิดฉันทะใจรักในการกระทำ เกิดความวิริยะบากบั่นเพื่อความสำเร็จ ในขณะที่ทำก็ไม่วอกแวก ไม่ซ่านส่ายไปในสิ่งยั่วยวนรอบข้าง และไม่นิ่งนอนใจ รู้ตัวทั่วพร้อม ซักซ้อมฝึกฝนตนสม่ำเสมอ เรียกได้ว่า จิตเป็นปัจจัยแรก ท่ามกลาง และที่สุดของการกระทำของมนุษย์เรานั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราต้องการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีงาม การฝึกจิตให้พรั่งพร้อม มีกำลัง ฉับไว ว่องไวแจ่มชัดย่อมส่งผลสู่การกระทำอันประเสริฐทั้งหลาย เราจึงควรหมั่นฝึกสติในการอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ปล่อยให้จิตหลงไปกับกิเลส อารมณ์ที่กระทบ ฝึกนั่งสมาธิสม่ำเสมอ หรือ เมื่อกระทำการใดก็ทำด้วยสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นให้ตลอด และประกอบความเพียรในทุกสิ่งอย่าง ไม่ยอมแพ้จนกว่าจะสำเร็จ ลุล่วงตามประสงค์ใจหมาย
สรุปความว่า “การฝึกจิต” จนจิตดีนั้นย่อมเป็นปัจจัยให้ริเริ่มฝึกฝนพัฒนาตน ตามหลักไตรสิกขา ประคับประคองให้ดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ ไปตลอดรอดฝั่ง ก้าวไปสู่ทางแห่งความสำเร็จ และปลายทางที่ประเสริฐสูงสุด คือ นิพพาน อันเป็น”สิ่งที่ดี”ที่สุดทางพุทธศาสนา

No comments: