Thursday, August 23, 2007

อตตาหิ อตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

“ตน” ในที่นี้ก็หมายถึงตัวของเราเองทุกคน ที่ประกอบขึ้นจากการประชุมกันของรูปและนาม เกิดขึ้นเป็นร่างกาย จิตใจ สามารถสื่อสาร รับรู้ แสดงออก ต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ต่างๆ ในที่นี้อาจเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า ทำไมพุทธศาสนา สอนหลัก อนัตตลักษณะ หรือ ความไม่มีตัวมีตน แต่ในพุทธภาษิตนี้ แฝงนัยแห่ง อัตตา เพราะคำว่า ”ตน” ถึงสองครั้งด้วยกัน
ความจริงแล้วพุทธภาษิตนี้ไม่ได้ใช้สำหรับสอนหลักที่ลึกซึ้งระดับเหนือโลกียวิสัย ไม่เน้นให้เข้าใจลึกซึ้งต่อหลักไตรลักษณ์ คำว่า”ตน” จึงไม่ได้หมายถึง การมีตัวตน หรือ อัตตา แต่เป็นการสอนแบบโลกียวิสัย คือ ให้คำจำกัดความ “ตน” เพียงแค่ใช้แทนตัวเรา ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็คือ ให้ตัวเรานั้น พึ่งพาตัวเราเอง
ลักษณะพุทธศาสนา เน้นเรื่องการพึ่งตนเองนี้อย่างยิ่ง เพราะการพึ่งตนนี้เอง ทำให้เรานั้นไม่ต้องหวังรอเหตุปัจจัยจะสมบูรณ์ ไม่เฝ้าคอยให้ใครมาทำให้สำเร็จ อาทิ ถ้าเราจะไปโรงเรียน แต่ไม่รู้เส้นทางต้องคอยให้แม่พาไป หรือถ้าต้องไปเองก็ต้องคอยถามคนข้างทางไปเรื่อย อย่างนี้ ถ้าวันไหนแม่ไม่อยู่ หรือ เกิดวันนั้นไม่มีคนเดินถนนเลยแม้แต่คนเดียว เราก็ไปโรงเรียนไม่ถูกแล้ว อดเรียนไป การพึ่งตนเองจึงเป็นการกระทำผลนั้นให้เกิดได้ด้วยตัวเอง ควบคุมเหตุให้เกิดผลได้ด้วยตัวเอง ผลจากการกระทำเองนี้ ทำให้เราเกิดความอิสระทั้งทางร่างกาย คือ ทำให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี เป็นผู้เอางานเอาการ ไม่ล้มเลิก มองหาคนช่วยก่อนจะทดลองให้รู้จริง ถ้าจะมีใครจะช่วยก็ขอให้สุดความสามารถของเราก่อน แล้วจึงขอความช่วยเหลือ ความเป็นผู้นำก็เกิดขึ้น ในด้านจิตใจ จะทำสิ่งใดก็เกิดความมั่นใจ มุ่งมั่น ว่าเราสามารถทำได้ ไม่หวั่นไหว ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่ล้มเลิกจนกว่าผลที่หมายนั้นจะสำเร็จ
แต่การพึ่งตนเองนั้นต้องหันกลับมาดูตัวเองที่พึ่งนั้นด้วยว่าพึ่งไหวไหม เช่น คนที่ว่ายน้ำไม่เป็น เมื่อพลัดตกน้ำไม่ร้องเรียกใคร คิดแต่เพียงว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน สุดท้าย ตนนั้นก็ช่วยตัวเองไม่ได้ต้องจมน้ำในที่สุด ดังนั้นจากสุภาษิตนี้ ถ้าจะให้ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่เสี่ยงต่อการนำไปใช้ผิดๆ จะมีพุทธภาษิตต่อท้ายว่า “อตตาหิ สุทนเตน นาถัง ลภติ ทุลลภัง “มีตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นที่พึ่งที่หาได้ยาก” ถ้าตนไม่พร้อม ไม่ดีพอ การเอาตัวเราไปพึ่งก็อาจเกิดความเสียหายได้ ต้องรู้จักประมาณตน ในยามที่เรายังอ่อนแอ ก็ยังคงต้องพึ่งผู้ที่เชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถ ช่วยสร้างเสริมกำลังกายกำลังใจ ที่จะพาเราผ่านพ้นอุปสรรคนั้นๆไปได้ แต่ขณะนั้นก็ไม่ประมาท นิ่งนอนใจ ยึดติดว่าจะมีใครช่วยเราตลอด ต้องพัฒนาตัวของเราควบคู่กันไป เมื่อเจองานที่ยาก อุปสรรคที่หนักหนาก็ขอให้มองเป็นสนามไว้ฝึกตนจนวันหนึ่งตัวเรามีความสามารถพอไม่ต้องพึ่งคนอื่น ก็ยังไม่หยุด ต้องพยายามให้สูงยิ่งๆขึ้นไป เมื่อเรารู้จักพึ่งตนเอง ไม่ประมาท มีความเพียรพัฒนาตนอยู่เสมอ “ตนจึงจะเป็นที่พึ่งของตนได้ และเป็นที่พึ่งที่หาได้ยากอีกด้วย”
สรุปจากสุภาษิตนี้ จึงได้ข้อคิดว่าเราทุกคนควร พยายามพัฒนาตน และไม่ประมาทประพฤติตน เพื่อที่ตนจะได้พึ่งตน และเป็นที่พึ่งให้ตนได้ เมื่อพึ่งตนได้ดีแล้ว เสริมด้วยการรู้จัก ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ ตนของเราก็จะสร้างประโยชน์ได้มากกว่าเพียงเพื่อตนเอง แต่เผื่อแผ่ให้แก่สังคม แก่โลก เป็นตนที่มีค่ายิ่งขึ้นไปได้อีกด้วย

1 comment:

Anonymous said...

hi